วาดผัง EEC บนแผนที่ลงทุน โลกยุคย้ายฐาน
การเปลี่ยนผ่านจากยุคโลภาภิวัตน์ที่เราเคยคุ้นชินไปในทิศทางทวนกระแสด้วยแรงขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์สู่การแยกขั้ว ทำให้แผนที่การลงทุนโลกกำลังถูกวาดขึ้นมาใหม่
ภูมิทัศน์การค้าและการย้ายฐานการผลิตที่เปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่อ EEC ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเชื่อมไทยกับโลก
ในประเด็นการค้าโลกนั้น รูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้ากำลังถูกนิยามใหม่ ผู้นำเข้าต่างไม่ได้แสวงหาเพียงสินค้าราคาถูกจากประเทศที่ได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความสามารถในการแข่งขันเป็นหลักอีกต่อไป การค้าข้ามพรมแดนกลายเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนในหมู่พันธมิตรและถูกใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นระหว่างขั้วตรงข้าม กระแสรวมกลุ่มเป็นเขตการค้าช่วยกระตุ้นให้มูลค่าการค้าภายในภูมิภาคเดียวกันเร่งตัวขึ้น หากโฟกัสที่ไปคู่ขัดแย้งหลักระหว่างสหรัฐฯกับจีนแล้ว
จากการศึกษา ล่าสุดของ McKinsey เมื่อต้นเดือนก.ย. 2567 ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้สงครามการค้าที่ปะทุรุนแรงเมื่อสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ช่วงกว่าหกปีก่อนจะส่งผลให้มูลค่าการค้าแลกเปลี่ยนระหว่างกันลดลง แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสองมหาอำนาจยังเชื่อมโยงถึงกัน ภายใต้ห่วงโซ่อุปทานที่อ้อม ยาว และคลุมเครือยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งต้องอาศัยประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งไทยเราถือเป็นสมาชิกสำคัญ การทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมยักษ์ทั้งสองดังกล่าวช่วยเพิ่มบทบาทของชาติอาเซียนในการมีส่วนร่วมกับการค้าโลก
ส่วนฝั่งการลงทุนนั้น จุดหมายปลายทางในการย้ายฐานของบรรษัทข้ามชาติเปลี่ยนจากจีนซึ่งเคยเป็นศูนย์รวมโรงงานของโลก มาเป็นอาเซียน เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และแอฟริกา UNCTAD ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า บรรษัทข้ามชาติต่างเร่งจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคและกระจายเครือข่ายการผลิตออกไปใกล้กับตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเติบโต และลดความเสี่ยงจากภาวะอุปทานชะงักงัน โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่มูลค่าการลงทุนทางตรงเข้ามาจากต่างประเทศช่วงปี 2565-2566 ที่ผ่านมาเติบโตถึงกว่า 10% ส่วนหนึ่งเป็นกิจการสัญชาติสหรัฐฯและยุโรปที่หันมาใช้กลยุทธ์จีนบวกหนึ่ง (China plus one) เพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนจีนเองนั้นปรับทิศการลงทุนมาใช้ชาติอาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อลดทอนผลกระทบของการกีดกันทางการค้าโดยพันธมิตรตะวันตก การลงทุนของมหาอำนาจทั้งสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลให้ภาคการผลิตของอาเซียนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานสองฝ่ายออกไปได้อย่างกว้างขวาง ทั้งยังช่วยยกระดับสินค้าไปสู่นวัตกรรมขั้นสูงขึ้น
คลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญของ EEC ในการวางยุทธศาสตร์รองรับกระแสลดการพึ่งจีนเป็นหลักของบรรษัทระดับโลก โดยเสนอให้ใช้ฐานการผลิตไทยเป็นทางเลือก ซึ่ง EEC มีทำเลที่ได้เปรียบอย่างมาก ทั้งเส้นทางการค้าที่สามารถเชื่อมกับทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Initiative: BRI) ผ่านโครงข่ายถนนและรถไฟความเร็วสูงไปยังจีน ยุโรป และแอฟริกา ตลอดจนความยืดหยุ่นต่อการปรับช่องทางขนส่งเป็นทางอากาศจากอู่ตะเภา หรือทางเรือผ่านแหลมฉบังรวมไปถึงแลนด์บริดจ์ได้ในระยะข้างหน้า ส่วนความพร้อมด้านผลิตเพื่อรองรับการเป็นห่วงโซ่อุปทานของชาติมหาอำนาจนั้น EEC ได้วางเป้าไปสู่อุตสาหกรรมแห่งสมัยใหม่ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และดิจิทัล อันจะเอื้อต่อการก้าวกระโดดสู่เทคโนโลยี 6G ในอนาคต ซึ่งเชื่อมต่อกับซุปเปอร์เอไอ Artificial Super Intelligence (ASI) รวมไปถึงอุตสาหกรรม 5.0 ที่จะเปลี่ยนโลกสู่การทำงานร่วมกันของมนุษย์และหุ่นยนต์ หากพวกเราช่วยกันผลักดันให้พื้นที่ EEC ฉกฉวยประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของโลกนี้ได้ การลงทุนมูลค่ามหาศาลครั้งใหม่อาจผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตข้ามพ้นวังวนของกับดักรายได้ปานกลางออกไปได้เร็วขึ้น