4 แหล่งเงินใหม่ ดันนโยบาย ‘แพทองธาร’ แก้กฎหมายดึงเงินกองทุนฟื้นฟู - ขายหุ้นบริษัทที่คลังถือ

4 แหล่งเงินใหม่ ดันนโยบาย ‘แพทองธาร’ แก้กฎหมายดึงเงินกองทุนฟื้นฟู - ขายหุ้นบริษัทที่คลังถือ

เปิดแหล่งเงินใหม่รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบาย ออกกฎหมายนำเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นแหล่งเงินรัฐบาล ขายหุ้นบริษัทที่คลังถือที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ดึงธุรกิจขึ้นบนดินเพิ่มรายได้ภาษีจัดสวัสดิการ ดันเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เพิ่มรายได้ นายกฯ แถลง 10 นโยบายฟื้นเศรษฐกิจ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.2567 โดยรัฐบาลกำหนดเป้าหมายของนโยบายให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในเวทีโลก

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 9 ข้อ อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ, การลดค่าพลังงาน และสาธารณูปโภค, การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ, การนำธุรกิจนอกขึ้นบนดิน และสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลง

ส่วนนโยบายระยะกลาง และระยะยาวจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยสร้าง New Growth Engine ซึ่งมีแนวทางที่จะต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึง Soft Power รวมทั้งจะมีการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น Green Economy, Digital Economy, Care and Wellness Economy, Financial Hub

ทั้งนี้หากดูการประกาศนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนของภาครัฐ 10 ข้อที่ต้องเร่งดำเนินการทันที โดยเฉพาะการแก้หนี้ทั้งระบบ โดยการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งใน และนอกระบบ การดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นนโยบายที่ต้องใช้ “เงินทุน” มหาศาล

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การหาแหล่งเงินทุนจึงเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐในขณะนี้ ที่ต้องเตรียมพร้อม เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ปัญหาระยะกลางยาวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยการหาแหล่งเงินทุนมี 4 แนวทาง คือ

1. ภาครัฐอาจออก พ.ร.ก.ในการแก้กฎหมายกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อเปิดทางให้ดึงเงินสมทบที่สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ที่ 0.46% หรือ 0.23% เพื่อดึงเงินส่วนนี้เข้าเป็นแหล่งเงินทุนของภาครัฐชั่วคราว เพื่อใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือผ่าน FIDF ที่ผ่านมาเคยมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในอดีต โดยเฉพาะที่ผ่านมามีการประกาศลดเงินนำส่ง FIDF เข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เหลือเพียง 0.23% เพื่อลดภาระแบงก์ในช่วงโควิด-19 เพื่อหวังว่า ภาระของสถาบันการเงินที่ลดลง และจะส่งผ่านให้แบงก์ช่วย “ลดดอกเบี้ยเงินกู้” ช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงวิกฤติ

4 แหล่งเงินใหม่ ดันนโยบาย ‘แพทองธาร’ แก้กฎหมายดึงเงินกองทุนฟื้นฟู - ขายหุ้นบริษัทที่คลังถือ

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ปัจจุบันมีเงินที่แบงก์นำต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯเพื่อชำระหนี้ FIDF อยู่ที่ 0.46% ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นเงินต่อปีที่ 70,000 ล้านบาท โดยเงินจะเข้ามาปีละ 2 ครั้ง โดยปัจจุบันหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มียอดคงค้างอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นก.ย. 67 นี้ และมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปีอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากให้ลดเงินนำส่ง หรือเงินส่วนนี้หายไป 0.23% จาก 0.46% ทำให้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย 5,000 ล้านบาท และทำให้เงินต้นของกองทุนฯ ลดลงช้าไปอีกครึ่งปี หากมาตรการดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี

ขายหุ้นบริษัทดึงเงินเข้า “คลัง”

2.การขายหุ้นบริษัทที่กระทรวงการคลังถือ (หุ้นที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ) โดยปัจจุบันมี 36 บริษัท มูลค่า 796,635 ล้านบาท ครอบคลุมหลายธุรกิจ และ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ถือหุ้น 11.74% มูลค่า 26,556 ล้านบาท , ธนาคารอิสลามฯ  ถือหุ้น 100% มูลค่า 9,124 ล้านบาท, บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 4.76% มูลค่า 2,633 ล้านบาท

บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ถือหุ้น 5.30% มูลค่า 2,037 ล้านบาท, บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  ถือหุ้น 1.28% มูลค่า 1,993 ล้านบาท, บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 22.13% มูลค่า 1,879 ล้านบาท

บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ถือหุ้น 4.10% สัดส่วน 1,360 ล้านบาท, บริษัท สหโรงแรมไทย และการท่องเที่ยว จำกัด ถือหุ้น 84.08% มูลค่า 687 ล้านบาท, บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 10.80% มูลค่า 653 ล้านบาท และบริษัทไสวประภาส และบุตร จำกัด ถือหุ้น 44.00% มูลค่า 410 ล้านบาท

นำธุรกิจขึ้นบนดินเข้าระบบภาษี

3. การจัดหารายได้เพิ่มเติมของรัฐบาลในเรื่องของการนำเอาเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่าจะนำเอาแหล่งเงินนี้เข้ามาเป็นรายได้ของรัฐ เพื่อจะนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษาสาธารณสุข และสาธารณูปโภค

รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กันไปกับปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

4. ส่วนรายได้ของรัฐที่มาจากเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ นายกรัฐมนตรีได้มีการแถลงไว้ในนโยบายเร่งด่วนนโยบายที่ 7 โดยระบุไว้ในนโยบายเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) 

รวมถึงการนำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจาย ลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.84 ล้านล้านบาท ในปี 2566

10 นโยบายเร่งด่วน “ทำทันที”

การแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 12 ก.ย.2567 มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดย น.ส.แพทองธาร ย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ ใน 10 นโยบายเร่งด่วนทำทันที ประกอบด้วย

1.การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้าน และรถ ช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ และในระบบที่ไม่ขัดต่อวินัยการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม

2.การส่งเสริม และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งต่างชาติ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์

3.การออกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานและสาธารณูปโภค ด้วยการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และเร่งปรับปรุงกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำสัญญาซื้อขายพลังงานโดยตรง พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน 

รวมทั้งผลักดันนโยบายด้านขนส่งมวลชนที่จะกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย

4.การสร้างรายได้ใหม่ด้วยนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี และเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค

กระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน “เงินดิจิทัล”

5.การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก

6.การยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และราคาพืชผลการเกษตร

7.การเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์)

8.การแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

9.การเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยเพิ่มการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ ช่วยเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที

10.ส่งเสริมศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคนไร้รัฐไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์

เร่งยกระดับความสามารถประเทศ

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า นโยบายพัฒนาประเทศแต่ละด้านครอบคลุมทั้งระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงยอดการพัฒนาภาคผลิต การบริหาร รวมทั้งยกระดับการแข่งขันของประเทศ เช่น การต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ผ่านการดำเนินการทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน บริหารราชการแผ่นดินที่ยึดมั่นหลักนิติธรรม และความโปร่งใส ปฏิรูประบบราชการ และกองทัพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ การปฏิบัติราชการ

รัฐบาลต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็งโดยเร็ว แสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ระดับประเทศ และปัจเจกบุคคล ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ยกระดับภูมิปัญญาสร้างสรรค์ รวมถึงต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมุ่งมั่นพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวตอนท้ายของการแถลงนโยบายว่า ขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะตั้งใจบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดประโยชน์ประชาชน และประเทศ โดยจะสร้างโอกาสเท่าเทียม ให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อพาความภาคภูมิใจกับมาสู่ประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์