เหมืองทองอัครา โจทย์ท้าทาย 'เอกนัฏ' สางปมขัดแย้งบริษัทข้ามชาติยุค 'ประยุทธ์'

เหมืองทองอัครา โจทย์ท้าทาย 'เอกนัฏ' สางปมขัดแย้งบริษัทข้ามชาติยุค 'ประยุทธ์'

เหมืองทองอัครา โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย 'เอกนัฏ' รมต.อุตสาหกรรม เร่งสางปมภายใต้ความขัดแย้งบริษัทข้ามชาติในยุครัฐบาล พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปัญหาเหมืองทองอัครา ยังคงเป็นโจทย์ที่รอรัฐบาล ภายใต้นโยบายที่ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" จะต้องเข้ามาแก้ปัญหา เนื่องจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นโควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น "แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี" ของพรรคด้วย

ทั้งนี้ เหมืองทองชาตรี หรือเหมืองทองอัคราดำเนินกิจการโดย บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กลับมาเปิดดำเนินการเหมืองทองอีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 หลังรัฐบาลไทยปิดเหมืองไปนานกว่า 7 ปี จากข้อกังวลผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม

หากย้อนเวลาในช่วงปี 2557-2559 ปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มประชากรจากประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตรและ จ.พิษณุโลก ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โดยทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 1,004 คน ที่อาศัยในเขตใกล้เหมืองปรากฏว่าพบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และ สารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%

อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้แจ้งต่อ บริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำมาตรวจสอบที่เหมืองชาตรีปรากฎว่าไม่พบไซยาไนต์รั่วไหลแต่อย่างใด

ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดการแบ่งแยกฝ่ายชาวบ้านที่สนับสนุนเหมืองทองและต้องการให้ยุติกิจการ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ให้ปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) 

พร้อมสั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีการพยายามเจรจากับรัฐบาลไทยแต่ไม่ได้ข้อยุติ จึงตัดสินใจส่งจดหมายแจ้งรัฐบาลขอใช้สิทธิ์หารือ (Consultation Process) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) 

ต่อมา คิงส์เกตฯ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรื่องการเข้าสู่พิธีการอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ TAFTA เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 รัฐบาลไทยจึงได้มีการตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อสู้กรณีพิพาทเหมืองทองอัคราในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ พร้อมองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ได้ตรวจสอบผลกระทบของเหมืองทองกับสิ่งแวดล้อม ได้แถลงผลตรวจสอบว่าไม่พบไซยาไนด์ในนาข้าว 

นอกจากนี้ คณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 มีการพิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยมีมติให้เขียนใบปะหน้าว่า เป็นความเห็นของผู้วิจัยที่ยังมีข้อโต้แย้งจากคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่าน โดยให้แนบข้อโต้แย้งในภาคผนวก และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน

ในขณะที่อัคราฯ ก็ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชน โดยเห็นแย้งรายงานดังกล่าว เนื่องจากพบข้อขัดแย้งทางวิชาการมากมายจากผลที่คณะผู้วิจัยได้เปิดเผย รวมถึงความไม่เหมาะสมของเครื่องมือและเทคนิคในการตรวจสอบ และการแปลผลอย่างมีอคติ เป็นต้น

ในปี 2562 คิงส์เกตฯ ได้แจ้ง ก.ล.ต. ออสเตรเลียว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยและคิงส์เกต นัดแรกที่ฮ่องกง ต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 18-29 พ.ย. เนื่องจากเหตุความวุ่นวายทางการเมือง

และในปี 2564 คิงส์เกตฯ ได้เปิดเผยว่า การเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อระงับข้อพิพาทเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว แต่บริษัทและรัฐบาลไทย ร่วมกันขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชะลอการอ่านคำวินิจฉัยออกไปจนถึง 31 ต.ค. 2564 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 ต.ค. 2564 คิงส์เกตฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า การเจรจากับรัฐบาลไทยยังไม่สิ้นสุด ทั้งสองฝ่ายจึงขอให้คณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนคำตัดสินข้อพิพาทไปเป็นวันนที่ 31 ม.ค. 2565

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กรณีข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ โดยจะต้องรอคณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสิน วันที่ 30 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับการเลื่อนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นการเลื่อนการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินล่าสุดออกไปอีกรอบ จากเดิมที่กำหนดออกคำชี้ขาดในช่วงสิ้นปี 2566 เป็นวันที่ 30 มิ.ย. 67 และล่าสุด ได้เลื่อนการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินออกไปอีก 3 เดือน หรือวันที่ 30 ก.ย. 2567 อีกครั้ง 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152 ว่า ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายการทำเหมืองแร่ปี 2560 ออกนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนและจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิ่งแวดล้อม

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้แก้ปัญหา 2 ด้าน ที่ทำคู่ขนานกันไป โดยทำเรื่องสู้คดีที่ต้องทำด้วยความรัดกุมรอบคอบทางอนุญาโตตุลาการบอกว่า ตกลงกันได้แล้วให้มาดำเนินการซึ่งมี 2 ทางคือ การต่อสู้คดี และการเจรจา

และคำนึงว่า ถ้าบริษัทกลับมาประกอบกิจการได้จะเกิดประโยชน์กับประเทศหลายส่วน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาข้อยุติ เพื่อความสงบสุขทั้งสองฝ่าย จึงได้มีการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเลื่อนคำชี้ขาดออกไป

และมีการสร้างงานเพิ่มขึ้นช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการหมุนเวียน มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน มีการนำเหมืองทองคำกลับมาใช้ประโยชน์ สิ่งสำคัญประเทศได้เงินค่าภาคหลวง 10% จะส่งคืนประชาชนในพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2560 จ่ายค่าภาคหลวงให้ไทยสูงถึง 4,400 ล้านบาท

และเมื่อกลับมาประกอบกิจการอีกครั้ง เริ่มต้นเมื่อมิ.ย. 2546 ถึงปัจจุบันได้เงินค่าภาคหลวงแล้ว 358 ล้านบาท ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแล ตามกฎหมายพ.ร.บ.แร่ 2560