2 นายกฯ 6 รมว.อุตสาหกรรม เคลียร์ปม 'เหมืองทองอัครา' ไม่จบ
2 นายกฯ "ประยุทธ์-เศรษฐา" 6 รมว.อุตสาหกรรม ยังไม่สามารถเคลียร์ปมคดี "เหมืองทองอัครา" ยังไม่จบ ลุ้น "อนุญาโตตุลาการ" ชี้ขาดหรือคำตัดสินวันที่ 30 มิ.ย. 2567 นี้
KEY
POINTS
- "อัครา" กลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2566 ตามคำขอต่างๆ โดยเฉพาะคำขอต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่เดิม ตั้งแต่ปี 2563 ถูกต้องครบถ้วน ตามกฎหมายว่าด้วยแร่และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- "กระทรวงอุตสาหกรรม" เผย ข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ "คิงส์เกต" ผู้ถือหุ้น "อัครา" ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต้องรอคณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสิน 30 มิ.ย. 67 นี้
- "พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล" รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงไทยปรับปรุงกฎหมายการทำเหมืองแร่ปี 2560 ออกนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนและจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิ่งแวดล้อม
การกลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้งของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. 2566 เป็นผลมาจากที่อัคราฯ ได้เริ่มกลับมาดำเนินการคำขอต่างๆ โดยเฉพาะคำขอต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่เดิม และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ค้างอยู่ ตั้งแต่ปี 2563 ให้ถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแร่และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายทองคำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่
หากย้อนเวลาในช่วงปี 2557-2559 ปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มประชากรจากประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตรและ จ.พิษณุโลก ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โดยทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 1,004 คน ที่อาศัยในเขตใกล้เหมืองปรากฏว่าพบสารแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 41.83% และ สารไซยาไนต์ในร่างกายเกินมาตรฐาน 5.88%
อย่างไรก็ตาม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้แจ้งต่อ บริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำมาตรวจสอบที่เหมืองชาตรีปรากฎว่าไม่พบไซยาไนต์รั่วไหลแต่อย่างใด
ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดการแบ่งแยกฝ่ายชาวบ้านที่สนับสนุนเหมืองทองและต้องการให้ยุติกิจการ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2559 ให้ปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
พร้อมสั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการต้องฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ตามที่กำหนดไว้ในรายการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด มีการพยายามเจรจากับรัฐบาลไทยแต่ไม่ได้ข้อยุติ จึงตัดสินใจส่งจดหมายแจ้งรัฐบาลขอใช้สิทธิ์หารือ (Consultation Process) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
ต่อมา คิงส์เกตฯ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย เรื่องการเข้าสู่พิธีการอนุญาโตตุลาการ ภายใต้ TAFTA เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 รัฐบาลไทยจึงได้มีการตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อสู้กรณีพิพาทเหมืองทองอัคราในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่สิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ พร้อมองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ได้ตรวจสอบผลกระทบของเหมืองทองกับสิ่งแวดล้อม ได้แถลงผลตรวจสอบว่าไม่พบไซยาไนด์ในนาข้าว
นอกจากนี้ คณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 มีการพิจารณาร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยมีมติให้เขียนใบปะหน้าว่า เป็นความเห็นของผู้วิจัยที่ยังมีข้อโต้แย้งจากคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่าน โดยให้แนบข้อโต้แย้งในภาคผนวก และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน
ในขณะที่อัคราฯ ก็ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชน โดยเห็นแย้งรายงานดังกล่าว เนื่องจากพบข้อขัดแย้งทางวิชาการมากมายจากผลที่คณะผู้วิจัยได้เปิดเผย รวมถึงความไม่เหมาะสมของเครื่องมือและเทคนิคในการตรวจสอบ และการแปลผลอย่างมีอคติ เป็นต้น
ในปี 2562 คิงส์เกตฯ ได้แจ้ง ก.ล.ต. ออสเตรเลียว่า กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยและคิงส์เกต นัดแรกที่ฮ่องกง ต้องเลื่อนออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 18-29 พ.ย. เนื่องจากเหตุความวุ่นวายทางการเมือง
และในปี 2564 คิงส์เกตฯ ได้เปิดเผยว่า การเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อระงับข้อพิพาทเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว แต่บริษัทและรัฐบาลไทย ร่วมกันขอให้คณะอนุญาโตตุลาการชะลอการอ่านคำวินิจฉัยออกไปจนถึง 31 ต.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม วันที่ 27 ต.ค. 2564 คิงส์เกตฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า การเจรจากับรัฐบาลไทยยังไม่สิ้นสุด ทั้งสองฝ่ายจึงขอให้คณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนคำตัดสินข้อพิพาทไปเป็นวันนที่ 31 ม.ค. 2565
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กรณีข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ผู้ถือหุ้นบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยจะต้องรอคณะอนุญาโตตุลาการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินวันที่ 30 มิ.ย. 2567 นี้
อย่างไรก็ตาม ในการเลื่อนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการเลื่อนการออกคำชี้ขาดหรือคำตัดสินล่าสุดออกไปอีก 6 เดือน จากก่อนหน้านี้ จากเดิมที่กำหนดออกคำชี้ขาดในช่วงสิ้นปี 66 ที่ผ่านมา ดังนั้น วันที่ 30 มิ.ย. 67 จะถึงวันที่ต้องตัดสินตามที่ทั้งสองฝ่ายร้องขอ ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลาที่เชื่อว่าจะสามารถเจรจาให้ข้อพิพาทยุติลงได้ และเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152 ว่า ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายการทำเหมืองแร่ปี 2560 ออกนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนและจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อเข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสิ่งแวดล้อม
น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมแก้ปัญหา 2 ด้านทำคู่ขนานกันไป เราทำเรื่องสู้คดีทำด้วยความรัดกุมรอบคอบทางอนุญาโตตุลาการบอกว่า ตกลงกันได้แล้วให้มาดำเนินการซึ่งมี 2 ทางคือ การต่อสู้คดี และการเจรจา
และคำนึงว่า ถ้าบริษัทกลับมาประกอบกิจการได้จะเกิดประโยชน์กับประเทศหลายส่วน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาข้อยุติ เพื่อความสงบสุขทั้งสองฝ่าย จึงได้มีการเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเลื่อนคำชี้ขาดออกไป
วันนี้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นช่วยให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการหมุนเวียน มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน มีการนำเหมืองทองคำกลับมาใช้ประโยชน์ สิ่งสำคัญประเทศได้เงินค่าภาคหลวง 10% จะส่งคืนประชาชนในพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2560 จ่ายค่าภาคหลวงให้ไทยสูงถึง 4,400 ล้านบาท
และเมื่อกลับมาประกอบกิจการอีกครั้ง เริ่มต้นเมื่อมิ.ย. 2546 ถึงปัจจุบันได้เงินค่าภาคหลวงแล้ว 358 ล้านบาท ประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแล ตามกฎหมายพ.ร.บ.แร่ 2560