‘เงินบาท’ กดส่งออกข้าวถดถอย แข็งค่าทุก 1 บาท ดันราคาข้าว 15 ดอลลาร์
ผู้ส่งออกข้าว ชี้ เงินบาทแข็งทำตั้งราคาส่งออกลำบาก แพงกว่าคู่แข่ง ชี้แข็งทุก 1 บาท ทำราคาข้าว FOB เพิ่มขึ้นตันละ 15 ดอลลาร์ กังวลบาทแข็งลากยาวปีหน้า ซ้ำเติมอินเดียยกเลิกแบนข้าว ทำปริมาณข้าวในตลาดโลกมากทำส่งออกลด จี้ รัฐ รักษาเสถียรภาพเงินบาท เร่งลดดอกเบี้ย
การส่งออกข้าวของไทยอยู่ในลำดับต้นของโลก โดยในช่วงที่ผ่านมามีความได้เปรียบจากเงินบาทอ่อนค่าทำให้แข่งขันด้านราคาได้ โดยในช่วง 7 เดือน แรกของปี 2567 (ม.ค.-ก.ค.) ส่งออกข้าวได้ 5.68 ล้านตัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 22% ส่วนมูลค่า 132,936 ล้านบาท หรือ 3,702 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 51%
ขณะที่เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวอย่างชัดเจน เพราะมีต้นทุนการผลิตในประเทศถึง 90%
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผลกระทบการส่งออกข้าวไทยจากภาวะเงินบาทแข็งค่าที่ช่วงต้นปี 2567 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้การส่งออกข่าวของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอินเดียแบนการส่งออกข้าวขาวทำให้ไทยส่งออกข้าวมากขึ้น จากเดิมที่ตั้งเป้าส่งออกข้าวปี 2567 ที่ 7.5 ล้านตัน ปรับขึ้นเป็น 8.2 ล้านตัน
รวมทั้งไทยส่งออกข้าวได้เฉลี่ยเดือนละ 7-8 แสนตัน บางเดือนแตะ 9 แสนตัน จนถึงปัจจุบันไทยส่งออกข้าวแล้ว 7 ล้านตัน เหลือเวลาอีก 3 เดือนถึงสิ้นปี หากไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยเดือนละ 5 แสนตัน ทั้งปีก็จะส่งออกข้าวได้ 8.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันเงินบาทที่เคยเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวกลับมาแข็งค่าขึ้น 10% ส่งผลกระทบมากทำให้การส่งออกลำบากขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามแข็งค่าเพียง 3% อินเดียอ่อนค่า 1% ซึ่งความต่างของค่าเงินทำให้การเสนอราคาข้าวไทยห่างคู่แข่งมาก
คาดแพ้ประมูลข้าวอินโด4.5แสนตัน
ล่าสุดจะมีการประมูลข้าวประเทศอินโดนีเซีย 4.5 แสนตัน ซึ่งไทยคงไม่ชนะการประมูลข้าวค่อนข้างแน่นอน เพราะสู้คู่แข่งไม่ได้ทั้งเวียดนาม เมียนมาและปากีสถาน เพราะราคาข้าวไทยแพงที่สุด แม้ว่าราคาในประเทศจะลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบเงินบาทที่แข็งขึ้น 2 บาท ทำให้ข้าวไทยแข่งขันลำบาก มีส่วนต่างของราคาข้าวห่างจากคู่แข่ง 30 ดอลลาร์ต่อตัน
ดังนั้นการที่จะลดราคาขายเป็นเรื่องยากมาก โดยอินโดนีเซียไม่ซื้อข้าวจากไทยแน่นอนสถานการณ์จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ถือว่าน่าห่วง แม้ไทยจะขายไปแล้วบางส่วนรอเพียงการส่งมอบข้าว และจะมีแรงช่วยจากการซื้อข้าวหอมมะลิใหม่บ้างก็ตาม
“เงินบาทแข็งค่าทำให้ไทยเสียเปรียบการตั้งราคา เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข ซึ่งค่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย ยกเว้นราคาในประเทศจะลดฮวบเหลือตันละ 5-6 พันบาทต่อตัน ซึ่งผู้ส่งออกไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะเกษตรกรจะเดือนร้อน"
รวมทั้งปัจจุบันไทยลดต้นทุนการผลิตไปมาก และสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักต่างจากสินค้าอื่น ดังนั้นวิธีการดีที่สุดต้องให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพเงินบาทให้ดีที่สุด อย่าให้อ่อนค่ามากจนเกินไปและรัฐบาลต้องเร่งลดดอกเบี้ยให้เร็วที่สุด
ตลาดส่งออกข้าวปี68แข่งขันดุเดือด
นายชูเกียรติ กล่าวว่า น่าห่วงการส่งออกข้าวปี 2568 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับข้าวไทย เพราะทั่วโลกจะมีผลผลิตข้าวออกมาพร้อม กันทั้งอินเดียและเวียดนาม โดยเฉพาะอินเดียที่สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย
รวมทั้งเป็นไปได้สูงที่อินเดียจะยกเลิกมาตรการแบนข้าวเพราะผลผลิตภายในประเทศสูงมาก โดยราคาข้าวปรับลดลงมาก ประกอบกับแรงกดดันจากผู้ส่งออกในประเทศที่เร่งให้เปิดการส่งออกข้าว ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลอินเดียจะเปิดให้ส่งออกข้าวได้ คาดว่าเร็วที่สุดน่าจะช่วงปลายปีนี้หรือช้าสุดคือต้นปี 2568
ทั้งนี้ เมื่ออินเดียเปิดการส่งออกจะทำให้มีข้าวขาวออกสู่ตลาดโลก 5 ล้านตัน ยิ่งค่าเงินอินเดียอ่อนค่า 1% ยิ่งทำให้ราคาข้าวอินเดียถูกลงและกดดันราคาข้าวในตลาดโลกลดลงอีก ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าแม้ราคาข้าวในประเทศลดลง แต่ราคาข้าวนึ่งอินเดียตันละ 520 ดอลลาร์ ส่วนไทยตันละ 570 ดอลลาร์ ราคาถูกกว่าไทยถึง 50 ดอลลาร์
“ปี 2568 น่าห่วงกว่าปี 2567 ว่าข้าวไทยจะสู้คู่แข่งได้มากแค่ไหน สถานการณ์นี้คาดเดายาก ดังนั้นปีหน้าการส่งออกข้าวไทยลดลงแน่นอน แต่จะลดแค่ไหนต้องดูปัจจัยประกอบก่อน ที่ผ่านมาช่วงที่อินเดียแบนการส่งออกทั้งไทยและเวียดนามได้อานิสงส์ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น จึงต้องจับตาว่าหลังจากนี้อินเดียจะมีมาตรการอะไรเพิ่มหรือไม่ เช่น ภาษีส่งออกหรือจำกัดจำนวนการส่งออก ซึ่งคาดเดายาก“
นายชูเกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ประเมินลำบากว่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องอีกหรือไม่ โดยผู้ส่งออกทำอะไรไม่ได้และถ้าส่งออกข้าวไม่ได้ จะทำให้ข้าวล้นตลาดจากปกติส่งออกปีละ 7-8 ล้านตัน และจะไปกดดันราคาข้าวในประเทศให้ลดลง
แข็งค่า1บาทราคาเพิ่มตันละ15ดอลลาร์
นางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบด้านราคาที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งสำคัญไม่ได้ เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน
ทั้งนี้ ค่าเงินที่แข็งค่าทุก 1 บาท ทำให้ราคาข้าวที่รวมค่าขนส่งถึงปลายทาง (FOB) เพิ่มขึ้นถึงตันละ 15 ดอลลาร์ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าเร็ว และรุนแรง โดยไม่รู้ทิศทางว่าจะแข็งกว่าอีกแค่ไหนหรือผันผวนเร็วอีกนานไหมทำให้ผู้ส่งออกปรับตัวได้ยาก
"ข้าวเป็นสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตกว่า 90% เป็นต้นทุนในประเทศ ปีนี้เป้าส่งออกข้าว 8.5 ล้านตันไม่น่าจะมีปัญหา เพราะภัยแล้งสร้างความเสียหาย ทำให้หลายประเทศเพิ่มนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร"
ไทยเสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของจีน อีกด้านทำให้ประเทศไทยเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ภายใต้หลายประเทศที่เริ่มเห็นการลดดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น เช่นเดียวกันการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงิน
“ผลที่เห็นส่งผ่านมาสู่ค่าเงิน คือ การที่หลายประเทศลดดอกเบี้ย หรือจีน ที่วันนี้เรายังแข็งค่ากว่าหลายประเทศ ดังนั้น การขายสินค้าพวกนี้ก็จะขายของได้ถูกลง เทียบกับคนอื่นๆ ทำให้ต้องเผชิญกับความสามารถการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ที่จะเป็นประเด็นที่ต้องจับตามากขึ้น
ดร.นริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง มองว่าน่าห่วง เพราะการแข็งค่าของเงินบาท หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคทำให้สินค้าไทย การท่องเที่ยวในไทยแพงขึ้นในสายตาต่างชาติ ดังนั้นมองว่ามีผลกระทบมากกว่า ประโยชน์ ซึ่งหากในมุมประโยชน์จากการแข็งค่าเงินบาท จากการนำเข้าพลังงานที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าต่ำลง
โดยปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมันต่อปี 1.5 ล้านล้านบาท แต่ประเทศไทยมีรายได้จากต่างชาติเข้ามาอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท บวกกับนำเข้าส่งออกที่ 1.9 ล้านล้านบาท รวมแล้วมีรายรับ 3.6 ล้านล้านบาท ดังนั้นไทยสูญเสียรายได้มากกว่าได้รับประโยชน์จากการที่เงินบาทแข็งค่าซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบหากเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งกระทบต่อการขยายตัวต่อจีดีพีของไทยให้ลดลง
ทั้งนี้หากดูทิศทางเงินบาท มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง หรือหลุดระดับ 32 บาทต่อดอลาร์ได้ แต่ก่อนจะหลุดระดับดังกล่าว เชื่อว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากผู้ส่งออก และผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้ภาครัฐเข้าไปดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น
นายกฯ แนะใช้ประโยชน์จากนำเข้า
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นสร้างความกังวลต่อการส่งออก ซึ่งรัฐบาลทำได้หลายอย่าง เช่น การใช้ข้อดีของค่าเงินบาทแข็งค่าจากการนำเข้า ซึ่งเป็นผลอีกด้านที่ต้องหารือกัน โดยโครงการใดที่จะนำเข้าต้องล็อกไว้ใช้โอกาสช่วงเงินบาทแข็ง ซึ่งกระทรวงการคลังต้องหรือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สำหรับประเด็นการลดดอกเบี้ยที่จะมีผลต่อค่าเงินเป็นเรื่องที่ต้องมีการหารือกัน ซึ่งได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้วว่าต้องร่วมมือกันหาทางออก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้หารือจะได้รายละเอียดมากกว่า รวมทั้งอาจเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังไปหารือก็ได้
ส่วนจะต้องหารือก่อนวันที่ 16 ต.ค.2567 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “คงต้องคุยกันก่อน”
และกรณีรัฐบาลชุดที่แล้วมีความเห็นส่วนทางกับผู้ว่า ธปท.เห็นว่า “คงต้องคุยกันเพราะหากหาแนวทางร่วมกันไม่ได้ ความลำบากจะตกที่ประชาชน จึงต้องช่วยกัน เพราะเข้าใจกันอยู่แล้วว่าถ้าเงินบาทแข็งกระทบอะไรบ้าง เมื่อกระทรวงการคลังพูดคุยแล้วจะแถลงว่าจะทำอะไรได้บ้าง"
กรุงเทพธุรกิจ