มองไทยไกลๆ กับนโยบายรัฐบาล โดย ดร. ลัษมณ อรรถาพิช

มองไทยไกลๆ กับนโยบายรัฐบาล โดย  ดร. ลัษมณ อรรถาพิช

ภายหลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรี ผู้เขียนได้รับคำถามจากนักธุรกิจต่างชาติกลุ่มหนึ่งว่า จากนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไปนั้น ประเทศไทยจะมีหน้าตาอย่างไรในปี ค.ศ. 2030 เปลี่ยนไปจากที่เคยมองกันไว้หรือไม่

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก และสะท้อนให้เห็นว่าต่างชาติที่ทำธุรกิจค้าขายกับเรานั้น มองไกลมองลึกและมองเลยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าไปแล้ว  
ในเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นอกจากจะมีนโยบายเร่งด่วน 7 นโยบาย และนโยบายด้านสังคมอีก 3 นโยบายแล้ว ยังได้กล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาว และปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ (New Growth Engine)

โดยแบ่งได้เป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ 1) การต่อยอดอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นโอกาสของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (soft power) เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ และศูนย์กลางทางการเงิน และ 2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคมขนาดใหญ่ ด้านวิจัยและนวัตกรรม ด้านระบบสาธารณูปโภค และด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึง การยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน
จากนโยบายระยะกลางและระยะยาวดังกล่าว อย่างน้อยผู้เขียนสามารถสรุปให้กลุ่มนักธุรกิจต่างชาติฟังได้ว่า ประเทศเรายังมีความต่อเนื่องของนโยบายในภาพรวม (policy continuity) โดยจะเห็นได้ว่า ยังคงมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่เคยเรียกว่า อุตสาหกรรม S Curve ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล หรือ การแพทย์และสุขภาพ เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่รัฐบาลก่อนหน้าเคยเรียกรวมๆ ว่า BCG ในส่วนของความเป็นฮับของประเทศด้านต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีท่านที่แล้วประกาศไว้ ก็มีปรากฏให้เห็นในการแสดงวิสัยทัศน์ของท่านอยู่บ้าง เช่น ศูนย์กลางทางการบิน ศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค ดังนั้น เบื้องต้นก็พออนุมานได้ว่าประเทศไทยจะยังคงมีแผนและมาตรการที่จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ต่อเนื่องไป
 

อย่างไรก็ดี คงจะยังไม่สามารถตอบได้อย่างมั่นใจว่า ในปี 2030 โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร และสินค้าอุตสาหกรรมใดจะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างโดดเด่น ตัวอย่างที่เห็นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยดูมีความขึงขังกับการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า แต่วันนี้เราเริ่มเห็นท่าทีค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ของยานยนต์สันดาปไว้ก่อน ในส่วนของอุตสาหกรรมดิจิทัล เอกสารแถลงนโยบายฯ กล่าวถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในการผลิตและออกแบบชิป รวมถึงการผลิต semiconductor ซึ่งเป็นทิศทางที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศจำเป็นต้องไป แต่เราจะเห็นการลงทุนเหล่านี้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด เรื่องทรัพยากรมนุษย์และทักษะของแรงงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง มีการศึกษาเกี่ยวกับการจ้างงานในสหรัฐอเมริกา พบว่า การจ้างงานในอุตสาหกรรม semiconductor ใช้เวลาสรรหาคัดเลือกนานเป็นสองเท่าของอุตสาหกรรมอื่นเนื่องจากแรงงานในอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องมีทักษะค่อนข้างสูงและเฉพาะเจาะจง  
เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจสุขภาพเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีพื้นฐานที่จะต่อยอดไปได้ดี และกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติก็เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด เทคโนโลยีชีวภาพ และการแพทย์ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการที่จะทำให้เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจสุขภาพ ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง มี 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยที่หนึ่ง ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยเอกสารแถลงนโยบายฯ ได้ระบุถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรมไว้ว่า ...มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถออกขายสู่ตลาดโลกได้จริง ...และเปิดการร่วมมือกับภาคเอกชนเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุน การตั้งกองทุนสนับสนุน การจัดซื้อโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของภาครัฐ มาสนับสนุน การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาสู่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ให้ความสำคัญกับคำว่าวิจัยและนวัตกรรม จากนี้คงต้องติดตามว่าจะมีการดำเนินนโยบายที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในส่วนที่เป็น hardware อาทิ ศูนย์ทดสอบทดลอง โรงงานต้นแบบ และส่วนที่เป็น software อาทิ ทักษะของบุคลากร ระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้การวิจัยและนวัตกรรมเชื่อมโยงและตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร 
ปัจจัยที่สอง ได้แก่ กรอบนโยบายและกฎระเบียบที่เหมาะสม ในเอกสารแถลงนโยบายฯ ระบุว่า จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติ โดย จะปรับบทบาทภาครัฐเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Enable) การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) ...พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจหรือขัดขวางการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ผู้เขียนขอจัดให้เรื่องตลาดคาร์บอนเครดิตอยู่ในกลุ่มของปัจจัยนี้ด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีกลไกและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาส 
โดยสรุปแล้ว ผู้เขียนคงจะตอบกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติว่า หากรัฐบาลสามารถสร้างความร่วมมือและเร่งดำเนินการตามที่แถลงนโยบายไว้ ในปี 2030 คงจะเห็นเศรษฐกิจไทยเคลื่อนตัวไปในทิศทางและโอกาสที่จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น เข้าใกล้เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะและความรู้รองรับทิศทางการพัฒนาดังกล่าวมากขึ้น กลไกของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการประกอบธุรกิจในประเทศไทยจะยุ่งยากน้อยลง....สุดท้ายนี้ คงจะต้องขอฝากความหวังไปยังรัฐบาลว่า...อย่าให้ผู้เขียนต้องผิดศีลข้อมุสาวาทาเลย