'ส.อ.ท.'กระทุ้งรัฐ จี้ตั้ง 'กรอ.พลังงาน' ร่วมแก้โครงสร้างราคายั่งยืน
ประธาน "ส.อ.ท." กระทุ้งอีกรอบ จี้รัฐบาลร่วมจัดตั้ง "กรอ.พลังงาน" หวังช่วยกันแก้โครงสร้างราคาพลังงานอย่างยั่งยืน
KEY
POINTS
- ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่มาก จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อให้เอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมเสนอข้อคิดเห็นต่อภาครัฐ
- ภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศสำคัญ การผลิตสินค้าคือต้นทุน โดยประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นจุดเสียเปรียบหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค
- เศรษฐกิจไทยอาศัยภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน GDP ประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากต้นทุนการผลิตยังสูง สุดท้ายภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็จะทนแบบรับภาระไม่ไหวและจะทยอยปิดตัวลงเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานปัจจุบันยังเป็นปัญหาอยู่มาก ดังนั้น จึงอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญ ซึ่งหลัก ๆ ของการผลิตสินค้าคือต้นทุน ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งราคาพลังงาน ค่าแรง แม้จะมีจุดยุทธศาสตร์ที่น่าลงทุนที่สุดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นจุดเสียเปรียบหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม
ทั้งนี้ จากการหารือกับน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ และนายกฯ เองก็มีความเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ดังนั้น จึงอยากนำเสนอต่อภาครัฐ แม้ที่ผ่านมาจะมีการนำเสนอการจัดตั้งกรอ.พลังงาน มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งก็หวังว่า เจตนารมณ์ครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จ
"เศรษฐกิจไทยอาศัยภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน GDP ประเทศ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากรัฐบาลยังปล่อยให้ต้นทุนการผลิตยังสูงและแก้ปัญหาไม่ตรงจุด สุดท้าย ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอีก็จะทนแบบรับภาระไม่ไหวและจะทยอยปิดตัวลงเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาล"
นอกจากนี้ ยิ่งปัจจุบันปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าต่างประเทศจะยังคงมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะทำงานร่วม แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ดังนั้น จึงอยากฝากให้รัฐบาลตั้งกำแพงให้เข้มงวดอย่างจริงจัง เพื่อสกัดสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่ใช่ว่าสินค้าเหล่านี้จะไม่ไหลเข้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยนโยบายที่เอาจริงเอาจังส่งผลให้สินค้าดังกล่าวไม่สามารถเข้าประเทศได้อย่างง่ายดาย ไม่เหมือนประเทศไทยที่ยังมีช่องโหว่อีกมาก
นอกจากนี้ จากการประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร) ยังมีข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยมี 6 ข้อเสนอ ดังนี้
1. การปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ําของประเทศ (LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย
2. การเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS) โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านควรลดการพึ่งพาการนําเข้าพลังงานด้วยการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานจาก OCA ไทย-กัมพูชา
3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาทิ ไฮโดรเจน นิวเคลียร์ (SMR) การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
4. เร่งให้ความสําคัญการเปิดเสรีไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) ภายในปี พ.ศ. 2569 และต้องมีการกําหนดแนวทางการเปิดเสรีอย่างเป็นรูปธรรมและกรอบเวลาชัดเจนใน PDP 2024 มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และส่งเสริมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ตลอดจนมีระบบการจัดการแบตเตอรี่เก่าใช้แล้วอย่างครบวงจร
5. การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความจําเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเทียบกับทางเลือกในการ Repowering หรือ Overhaul โรงไฟฟ้าเดิม และการกําหนดใช้เกณฑ์ดัชนีโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation: LOLE) ที่ควรมีการให้ข้อมูล Reserve Margin ควบคู่ไปด้วย และ
6. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งหวังว่าจะมีการร่วมมืออย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น