‘บีโอไอ‘ หนุนเพิ่มงบฯกองทุนขีดแข่งขัน ดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

‘บีโอไอ‘ หนุนเพิ่มงบฯกองทุนขีดแข่งขัน ดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“บีโอไอ” หนุนรัฐบาลเพิ่มขนาดกองทุนขีดความสามารถแข่งขัน ใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดการลงทุนแทนมาตรการทางภาษีลดความสำคัญลงหลัง OECD บังคับเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% บริษัทที่มีมูลค่าเกิน 770 ล้านยูโร “นฤตม์”ชี้แนวโน้มส่งเสริมการลงทุนช่วงปลายปีถึงปีหน้าสดใส

KEY

POINTS

  • ตั้งแต่ต้นปี 2568 เป็นต้นไปมาตรการทางภาษีในการดึงการลงทุนจะลดความสำคัญลงหลัง OECD บังคับเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% บริษัทที่มีมูลค่าเกิน 770 ล้านยูโร
  • 'บีโอไอ' หนุนรัฐบาลเพิ่มขนาดกองทุนขีดความสามารถแข่งขัน ใช้เป็นเครื่องมือดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  • เลขาธิการบีโอไอชี้แนวโน้มส่งเสริมการลงทุนในไทยช่วงปลายปีถึงปีหน้าสดใส 5 อุตสาหกรรมขยายตัว หวังไทยช่วงชิงโอกาสรับการย้ายฐานผลิต สร้างฐานผลิตทันสมัยระยะยาว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงแนวทางที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการเพิ่มวงเงินในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้าสู่ประเทศไทยว่านโยบายนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะในปี 2568 จะเป็นปีที่ประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทยเริ่มใช้มาตรการตามกติกาภาษีใหม่ที่เรียกว่า “Global Minimum Tax” ตามเกณฑ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

โดยมาตรการนี้จะบังคับให้บริษัทข้ามชาติที่มีรายได้เกิน 770 ล้านยูโร ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% ซึ่งเมื่อประเทศต่างๆเริ่มใช้มาตรการภาษีนี้ก็เท่ากับมาตรการเรื่องภาษีที่จะเอามาใช้ในการดึงดูดการลงทุนจะมีความสำคัญลดน้อยลงไป

 

เครื่องมือทางการเงินสำคัญมีความสำคัญมากขึ้น

โดยเครื่องมือทางด้านการเงินจะมีความสำคัญมากขึ้นแทน โดยมาตรการทางการเงินที่จะใช้ต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การพัฒนาทักษะ และฝีมือแรงงาน เรื่องการวิจัยและพัฒนา เรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรในการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนนี้ไว้และจะสามารถใช้กองทุนฯนี้ในการเดินหน้านโยบายนี้ได้ต่อเนื่อง

‘บีโอไอ‘ หนุนเพิ่มงบฯกองทุนขีดแข่งขัน ดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

“ในหลายๆประเทศก็จะมีเครื่องมือ ด้านการเงินเข้ามาช่วยซัพพอร์ต บริษัทขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการตั้งกองทุนที่มีลักษณะคล้ายๆกับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยเพื่อที่จะใช้เงินจากกองทุนนี้ทำในเรื่องการช่วยส่งเสริมการลงทุน หรือช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในบางรายการ ซึ่งถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดกับหลักของ OECD ซึ่ง OECD ยอมให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯของไทยโดยตรง”

5 อุตสาหกรรมปักหมุดลงทุนไทย

เลขาธิการบีโอไอยังกล่าวถึงทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ไปจนถึงปี 2568  ถือว่ามีทิศทางดีต่อเนื่อง ซึ่งมี 5 สาขาที่เป็นอุตสาหกรรมหลักในไทย ซึ่งมีการลงทุนเข้ามามากได้แก่

1.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทิศทางยังคงขยายตัวต่อเนื่องซึ่งไม่ใช่แค่การประกอบรถอย่างเดียวแต่มีเรื่องของการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ และชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆของ EV

2.อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง รวมทั้งแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ที่มีการลงทุนอย่างมากในปีนี้ นอกจากนี้ประเทศไทยจะมีการก่อตั้งคณะกรรมการเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ขึ้นมาเร็วๆนี้เพื่อให้มีการผลักดันนโยบาย ทำโรดแมปเพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น  

3.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเห็นได้จากอุตสาหกรรมดาร์ตาเซนเตอร์ที่มีการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย  ซึ่งภายหลังจากที่กูเกิลประกาศแผนลงทุนดาร์ตาเซนเตอร์ในไทยเรียบร้อยแล้วโดยมีการลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาทในเฟสแรก ก็จะยังมีบริษัทใหญ่อีกหลายรายที่พูดคุยกับบีโอไอซึ่งคาดว่าจะประกาศตัวเลขการลงทุนได้เร็วๆนี้

4.อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากความถนัดและศักยภาพของประเทศไทย

และ 5.อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในขณะนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยต้องการไฟฟ้าที่มาจากแห่งผลิตที่เป็น “พลังงานสะอาด” ซึ่งจะเป็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการวางแผนในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากพลังงานจากพลังงานสะอาดมากขึ้นอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นจากโซลาร์เซลล์ พลังงานไฟฟ้าจากลม รวมทั้ง Bio-Mass

“การดึงการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญถือว่ามีทิศทางที่ดีไปจนถึงปีหน้า เพราะว่าเรื่องของความขัดแย้ง ภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นตัวเร่งการย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งนักลงทุนก็เร่งเข้ามาลงทุนทั้งในอาเซียน และในประเทศไทยที่ได้อานิสงค์ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ประเทศไทยต้องคว้าไว้ให้ เพราะว่าก็มีหลายประเทศที่มีคู่แข่ง แต่ว่าหากไทยสามารถดึงการลงทุนในสาขาเหล่านี้เข้ามาได้ก็จะสร้างความมั่นคงในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยในระยะยาว สร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทยในระยะยาว”

สำหรับแผนการโรดโชว์ของบีโอไอในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีการเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศผู้ลงทุนหลักในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รวมทั้งอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่ ส่วนในยุโรป จะเดินทางไปยังเยอรมัน และฝรั่งเศส