ค่าใช้จ่าย‘น้ำท่วมน้ำแล้ง’ ที่ประเทศไทยต้องเสีย

ค่าใช้จ่าย‘น้ำท่วมน้ำแล้ง’ ที่ประเทศไทยต้องเสีย

รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำหนดนโยบายที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลสรุบว่าปี 2567 ไทยเผชิญภาวะภัยแล้งช่วงครึ่งปีแรก และเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติในช่วงครึ่งหลังของปี

ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยย่ำแย่ต่อเนื่อง และกระทบสุขภาพประชาชน ซึ่งทำให้มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคน ในปี 2566

ในรอบ 1 เดือน ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงกว่าปกติ เริ่มตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่น้ำเพิ่งลดลงและอยู่ระหว่างบูรณะอาคารสถานที่ที่เสียหาย ถัดจากนั้นน้ำท่วมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งหลายจังหวัดน้ำท่วมรุนแรง เช่น หนองคาย รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกมากกำลังทำให้เชียงใหม่เกิดน้ำท่วมรุนแรง โดยน้ำท่วมครั้งนี้กินบริเวณเขตเมืองที่จะทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น

แต่ละปีรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการน้ำไว้มากกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2567 จัดสรรไว้ 119,851 ล้านบาท เป็นการจัดสรรให้หน่วยงานของ 9 กระทรวง ส่วนปีงบประมาณ 2568 จัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 131,647 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการป้องกันบรรเทาอุทกภัย ซึ่งในจำนวนงบประมาณดังกล่าวยังไม่รวมการตั้งงบประมาณฉุกเฉินจากงบกลางเพื่อเยียวยาผลกระทบประชาชนอีกปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท
    
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีแผนที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือการบริหารจัดการน้ำประมาณ 300,000 ล้านบาท รวมทั้งมีนโยบายที่จะป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการถมทะเลสร้างเกาะตามแนวอ่าวรูปตัว ก.จากนั้นสร้างประตูน้ำเชื่อมทุกเกาะ ซึ่งถือเมกะโปรเจกต์ที่อาจต้องลงทุนในระดับ 1 ล้านล้านบาท จึงถือว่าได้ว่าบริหารจัดการน้ำเป็นประเด็นที่ต้องจะต้องลงทุน เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณบริหารจัดการน้ำอยู่แล้วไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 ล้านบาท

สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเขตเมืองของหลายจังหวัดชี้ให้เห็นแล้วว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำในระดับวิกฤติ โดยในเวลาปัจจุบันรัฐบาลทำได้เพียงการช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น อาหารและน้ำดื่ม ในขณะที่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต้องวางนโยบายเพื่อดำเนินการควบคู่ระหว่างระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งต้องจัดลำดับการใช้งบประมาณให้ดีเพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด และเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงจึงต้องทำให้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด