'นักวิชาการ' เสนอ 6 แนวทาง ป้องกัน ‘น้ำท่วม กทม.’

'นักวิชาการ' เสนอ 6 แนวทาง  ป้องกัน ‘น้ำท่วม กทม.’

"เกรียงศักดิ์" ชี้น้ำท่วมปี 67 ไม่ส่งผลต่อลุ่มแม่น้ำภาคกลางเหมือนปี 2554 ชี้เขื่อนขนาดใหญ่ยังรับน้ำได้มาก ส่วนน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ต้องเฝ้าระวังและเตรียมแผนรองรับ เสนอ 6 แผนรับมือน้ำท่วมในอนาคตแนะประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริในหลวง ร.9 จัดการน้ำยั่งยืน

เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคอีสานในบางจังหวัดทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีคำถามว่าในปีนี้น้ำจะท่วมพื้นที่ภาคกลาง และกทม.เหมือนปี 2554 หรือไม่ และในระยะต่อไปพื้นที่ กทม.สามารถจะป้องกันน้ำท่วมได้หรือไม่ เมื่อภาวะโลกร้อนมีความรุนแรงมากขึ้นและระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกปี

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2567 แตกต่างจากปี 2554 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นปีแล้งจาก “เอลนีโญ” ต่างจากปี 2554 ที่ได้รับอิทธิพลจาก “ลานีญา” ทำให้มีฝนตกมากและมาช้ากว่าปกติ

โดยในภาคเหนือ น้ำส่วนใหญ่ระบายลงสู่แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ยกเว้นในเชียงรายที่ไหลลงแม่น้ำโขง โดยน้ำในเขื่อนหลักยังควบคุมได้ อาทิ เขื่อนภูมิพลมีน้ำเพียงร้อยละ 40 ของความจุ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีน้ำร้อยละ 60-70 ซึ่งใกล้เต็มความจุ แต่ยังแตกต่างจากปี 2554 ที่น้ำเต็มเขื่อนตั้งแต่กรกฎาคม ทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ขณะที่ปีนี้แม้เข้าสู่ปลายสิงหาคม น้ำในเขื่อนก็ยังไม่เต็ม สะท้อนความแตกต่างของสถานการณ์น้ำระหว่างสองปีอย่างชัดเจน

ส่วนคำถามที่ว่าจะเกิดน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่? นั้นยังต้องติดตามสถานการณ์เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝนและน้ำจากภาคเหนือ แม้มีมาตรการป้องกันที่ดี แต่ยังมีความเสี่ยงหากมีฝนตกหนักหรือน้ำจากเหนือมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระดับน้ำยังควบคุมได้ พร้อมมีแผนรองรับจากบทเรียนปี 2554

โดยมีแนวทางป้องกันน้ำท่วมมีหลายระดับ ทั้งการควบคุมน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเขื่อนหลักและประตูระบายน้ำ การจัดการปริมาณน้ำฝนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ติดตั้งปั๊มน้ำ สร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ และเตรียมแผนฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีการประสานงานกับชุมชนแนวคันกั้นและแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนรับมือน้ำท่วมที่ครอบคลุมของกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ขุดสะดือ-สายสะดือเมือง (สะดือเขต สะดือชุมชน) เพื่อสร้างพื้นที่รองรับน้ำตามหลักแก้มลิง ใช้หลักการแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสร้างพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มเติมในสวนสาธารณะ เช่น บริเวณลาดกระบัง หนองจอก สวนหลวงร.9
  2. ขุดลอกบ่อน้ำในพื้นที่ที่เป็นบึงและหนองน้ำให้ลึกขึ้น โดยการขุดบ่อให้ลึกขึ้นเป็นวิธีเพิ่มความจุในการกักเก็บน้ำ โดยสามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตเมืองและชานเมือง เช่น บริเวณที่เป็นบึงหรือหนองน้ำในเขตลาดกระบัง หนองจอก ทุ่งครุ และบางขุนเทียน รวมถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และสวนลุมพินี การขุดลอกให้ลึกขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิสภาพในการรองรับน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้

3.พัฒนาระบบควบคุมการเปิดปิดประตูระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ การวางระบบเปิดปิดประตูระบายน้ำเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ซึ่งทรงแนะนำแก่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ การควบคุมประตูระบายน้ำต้องทำอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกันทุกประตู โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำที่หนุนจากเหนือ และระดับน้ำทะเลในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

4.สร้างแนวป้องกันน้ำหนุน การสร้างแนวป้องกันน้ำหนุนเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากกรุงเทพฯ เผชิญกับน้ำจาก 3 แหล่ง ได้แก่ น้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาและจังหวัดข้างเคียง น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน ปัจจุบันมีแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยายาว 77 กิโลเมตร เพื่อป้องกันน้ำเหนือ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ สำหรับน้ำฝน แม้มีระบบท่อ อุโมงค์ระบายน้ำ และระบบสูบน้ำ แต่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงยังขาดมาตรการป้องกันพายุและน้ำทะเลหนุนที่มีประสิทธิสภาพ

5.จัดระเบียบผังเมืองจัดระเบียบผังเมืองโดยควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน โดยเฉพาะในเส้นทางน้ำไหลและแอ่งรองรับน้ำ ป้องกันการก่อสร้างหรือถมที่ปิดกั้นทางน้ำ หรือกำหนดรูปแบบพิเศษ เช่น ออกแบบบ้านให้น้ำไหลผ่านได้ในหมู่บ้านที่ขวางทางน้ำผิวดิน กำหนดให้โครงการหมู่บ้านจัดสรรทำระบบป้องกันน้ำท่วม รวมถึงจัดทำสะดือและสายสะดือหมู่บ้านเพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน

และ 6.เขื่อนชายฝั่ง 3 ชั้น โดยเขื่อนชายฝั่ง 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นนอกสุดเป็นโครงสร้างสลายพลังคลื่น ถัดมาคือแนวป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ และชั้นในสุดเป็นถนนขนานชายฝั่งที่แข็งแรง ระบบนี้ทดแทนโครงการ T-Groin  ซึ่งขาดความคงทนและก่อปัญหาการรั่วซึมของทราย

โดยนำแนวคิดจากโครงการนำร่อง “ขุนสมุทรจีน 49A2” ที่ประสบความสำเร็จในจังหวัดสมุทรปราการมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างระบบป้องกันชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

"การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน ควบคู่ไปกับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางนี้ เราไม่เพียงแต่จะสามารถลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเจริญให้กับกรุงเทพฯในระยะยาว อันจะนำไปสู่การส่งมอบเมืองที่ดีกว่าให้แก่คนรุ่นหลัง"