การเมืองบีบเลือก 'ประธานแบงก์ชาติ' วัดใจ 'บอร์ดสรรหาฯ' นัดเคาะชื่อ พ.ย.นี้
บอร์ดคัดเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” เลื่อนขอขยายเวลาแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่ หลังฝ่ายเลขานุการขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ถูกต้อง เพื่อให้รอบคอบที่สุด จับตาเสนอ 9 รายชื่อ กิตติรัตน์นั่งประธาน ปัดตอบการเมืองแทรกแซงสรรหา “ธาริษา” หวังยับยั้งหายนะเศรษฐกิจ
KEY
POINTS
- ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ยังไม่ได้ข้อสรุป ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯขอขยายเวลาคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติออกไปก่อน
- ฝ่ายเลขานุการขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ถูกต้อง เพื่อให้รอบคอบที่สุด
- จับตาเสนอ 9 รายชื่อ “กิตติรัตน์” นั่งประธาน เสนอชื่อ “กุลิศ-สุรพล” เป็นกรรมการ
- “คลัง” ปัดตอบการเมืองแทรกแซงสรรหา
- อดีตผู้ว่าการฯ ธปท.“ธาริษา” วอนกรรมการสรรหามีจิตสำนึกเลือกคนที่เหมาะสมเป็นธานยับยั้งหายนะเศรษฐกิจ
เป็นประเด็นร้อนที่ถูกจับตามองทันที หลังกระแสข่าวว่าหนึ่งในรายชื่อเข้าชิงตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ” คนใหม่ แทนที่ นายปรเมธี วิมลศิริ หมดวาระช่วงกลางเดือนก.ย.2567 และพบว่าการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นตัวเต็งได้รับเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการแบงก์ชาตินัดประชุมเพื่อพิจารณาบุคคลที่จะเข้ามานั่งประธานบอร์ดคนใหม่ นัดประชุมวันที่ 8 ต.ค.2567 นำโดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ , นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ , นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ , นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
แต่หลังเสร็จการประชุมพบว่ายังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าจะมีการนัดประชุมใหม่ในเดือนพ.ย.2567
สำหรับการเสนอชื่อครั้งนี้มีรายชื่อรวม 9 คน เป็นการเสนอจากกระทรวงการคลัง 3 รายชื่อ และ ธปท. 6 รายชื่อ โดยมีการเสนอชื่อประธานเข้ามาชิง 3 คน คือ นายกิตติรัตน์ , นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน , นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายเลขานุการฯ จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุม
โดยฝ่ายเลขานุการฯ จึงขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว
เลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่แรงกดดันสูง
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางการเลือกประธานบอร์ด ธปท.ครั้งนี้ได้รับแรงกดดันมหาศาลจากทั้งบุคคลภายนอก และภายใน ธปท.หรืออดีตผู้ว่าการ ธปท.ที่ออกมาท้วงติงการคัดเลือก เพราะแม้นายกิตติรัตน์จะนั่งตำแหน่งนี้ได้ แต่ขัดในเชิงจริยธรรมต่อสาธารณะ
สำหรับนายกิตติรัตน์ ไม่ได้นั่งในตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นบุคคลใกล้ชิดรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยทำให้หลายครั้งออกมาวิจารณ์การทำหน้าที่ ธปท.หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เข้าข้างรัฐบาล ดังนั้น การมานั่งตำแหน่งประธานบอรด์ ธปท.ครั้งนี้จึงสร้างความหวั่นใจให้สาธารณชนว่าอาจนำมาสู่ประโยชน์หรือเอื้อรัฐบาล
“ธาริษา” หวังยับยั้งหายนะเศรษฐกิจ
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์เตือน เลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ โดยระบุว่าในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมารัฐบาลแสดงความไม่พอใจชัดเจนต่อ ธปท.ทั้งไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท
ล่าสุดคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนไปเป็นประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ ซึ่งเพื่อจะใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน
เหมือนที่เห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลาง การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
ในกรณีของไทย นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งจะเป็นภาระการคลังมหาศาลได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
ดังนั้น หากแบงก์ชาติถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจ ย่อมตามมาอย่างแน่นอน
แทรกแซงธนาคารกลางเสียหายใหญ่หลวง
วงการเศรษฐกิจไทยชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้ ในขณะนี้จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้
อันที่จริง กฎหมายของ ธปท.ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงได้กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุ
เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญของ ธปท.ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยอิสระไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมเข้าใจบทบาทธนาคารกลาง และปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคม
ดังนั้น จึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้ จะสามารถทำหน้าที่ ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ
ภารกิจแรกๆ ของการประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
สำหรับสิ่งที่น่าจับตาสำคัญ หรือเป็นภารกิจแรกของประธานบอร์ด ธปท.ของ “กิตติรัตน์” ที่ทุกคนเฝ้ากังวลคือ “ลบล้าง” ความอิสระของ ธปท. โดยการแก้กฎหมาย ธปท.เพื่อเอื้อให้การทำหน้าที่ของ ธปท.เห็นพ้องต้องกับแนวคิดของรัฐบาลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การดูแลค่าเงินบาท จากที่ผ่านมาถือเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐ
เป้าหมายถัดมา คือ หลังจากการแก้กฎหมายแบงก์ชาติ เพื่อต้องการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้ไปอยู่บัญชีบริหารหนี้ของ ธปท.แทนที่จะอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง ดังนั้นเป้าหมายการโอนหนี้ FIDF เพื่อเอื้อให้รัฐบาลก่อหนี้เพื่อทำนโยบายเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้รัฐบาลลดหนี้สาธารณะลงได้ราว 5% ต่อจีดีพี
และยังมีภารกิจสำคัญที่เป็นเป้าหมายรัฐบาล คือ การล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยการนำทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก และเรียกว่าเกือบจะสูงที่สุดในปัจจุบันหลังค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จนทำให้ทุนสำรองปัจจุบันอยู่ระดับสูงลิ่ว
ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ ต้องเก่งด้านการเงิน-การคลัง
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามประเด็นการคัดเลือกที่มีการแทรกแซงของรัฐบาล ว่า ขอไม่พูดถึงตัวบุคคล และไม่พูดถึงกระบวนการสรรหา แต่พูดถึงหลักการในการแต่งตั้งประธานบอร์ด ธปท.ต้องพิจารณารอบด้านจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในมิติการเงิน และการคลัง
“ผู้ที่เหมาะสมต้องเห็นภาพการดำเนินนโยบายทั้งสองขาที่จะต้องควบคู่กันไป หากมองเพียงมุมของนักการเงิน หรือนักเศรษฐศาสตร์การคลังเพียงด้านเดียวก็จะไม่ครอบคลุม และรอบด้าน ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถรอบด้าน”
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และ ธปท. ก็จะต้องมีการพูดคุย และปรับจูนกันเพื่อมองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ตรงกัน
“พิชัย” รอคิวผู้ว่าฯ ธปท. ถกนโยบายการเงิน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องนี้จาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า เรื่องนี้รัฐบาลจะส่งฝ่ายการเมืองเข้าไปเป็นคณะกรรมการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือไม่ นายพิชัย ไม่ตอบคำถาม แต่ถามกลับมายังผู้สื่อข่าวว่า
“เหรอ แบงก์ชาติ เหรอ เอาคนการเมืองมาเหรอ?”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีการนัดหารือกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องนโยบายการเงิน นายพิชัย กล่าวว่า เร็วๆ นี้ จะมีการนัดหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยต้องรอตารางงานที่ว่างตรงกันก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบของคณะกรรมการ หรือเรียกหน่วยงานเข้ามาหารือ อย่างสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สำนักงบประมาณ นั้น นายพิชัย กล่าวว่า คงเป็นในรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อหาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะใช้ในช่วงปลายปี 2567 นี้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์