การผสานพลังระหว่างธุรกิจพลังงานและเทเลคอม – โอกาสใหม่ใน EaaS

การผสานพลังระหว่างธุรกิจพลังงานและเทเลคอม – โอกาสใหม่ใน EaaS

ธุรกิจพลังงานแบบดั้งเดิมในหลายประเทศ กำลังเผชิญหน้ากับ "จุดอิ่มตัว" หรือที่เรียกว่า "Utilities Death Spiral"

สถานการณ์นี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก ความผันผวนจากสงคราม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และการเกิดขึ้นของพลังงานทดแทน ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจึงเริ่มผลิตพลังงานใช้เองมากขึ้น เช่น การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ที่บ้านเพื่อลดค่าไฟ 

การผสานพลังระหว่างธุรกิจพลังงานและเทเลคอม – โอกาสใหม่ใน EaaS

ที่มา - Deloitte

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมและต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ธุรกิจพลังงานแบบดั้งเดิมต้องเร่งหาวิธีปรับตัวครั้งใหญ่

จากผู้ผลิตไฟฟ้า สู่ผู้ให้บริการพลังงานครบวงจร “Energy as a Service (EaaS)”

Energy as a Service (EaaS) หรือการให้บริการจัดการพลังงานแบบครบวงจรที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ

จากการคาดการณ์ของ Visiongain (Energy as a Service (EaaS) Market Report 2024-2034) ในปี 2024 มูลค่าตลาดของ EaaS จะสูงถึง 86,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้จะอยู่ที่ 12-13% ต่อปีในช่วง 10 ปีข้างหน้า

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงแต่พลิกโฉมธุรกิจพลังงาน แต่ยังรวมถึงชีวิตประจำวันของผู้คน แทนที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าตามการใช้งานเหมือนในอดีต

EaaS จะนำเสนอบริการที่สามารถจัดการการใช้พลังงานให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้ใช้มากที่สุด ผ่านอุปกรณ์ควบคุมอัจฉริยะ (Smart Device) และระบบการจัดการพลังงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Energy Management)

ตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดี คือ การสั่งปิด-เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าจากที่ใดก็ได้ในโลกผ่านสมาร์ทโฟน แต่เมื่อ EaaS ขยายขีดความสามารถได้เต็มที่ ผู้ใช้บริการจะสามารถควบคุมปริมาณการใช้พลังงานในบ้านได้และยังสามารถเลือกแหล่งที่มาของไฟฟ้าว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือพลังงานสะอาดได้ด้วยเช่นกัน 

การให้บริการแบบ EaaS มีแนวคิดหลักคือ "การจัดการพลังงานแบบครบวงจร" ผู้ใช้สามารถเลือกแพ็คเกจการใช้งานตามความต้องการ และสมัครใช้บริการได้ในลักษณะของสมาชิก (Subscription)

หรือสัญญาประสิทธิภาพพลังงาน (Performance-Based Contract) ที่มีการออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างสูงสุด

บริษัทที่ให้บริการ EaaS จะดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตพลังงาน การจัดหาอุปกรณ์ควบคุม ไปจนถึงการตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้พลังงานของผู้ใช้แบบเรียลไทม์

ในสหรัฐอเมริกา บริษัท Inspire เป็นตัวอย่างของผู้ให้บริการ EaaS มีแพ็คเกจที่เรียกว่า "Smart Energy" โดยจะให้บริการพลังงานสะอาด 100% แก่สมาชิก มีค่าบริการเริ่มต้นที่ 39 ดอลลาร์ต่อเดือนแบบคงที่

ความพิเศษของโมเดลธุรกิจนี้คือ ยิ่งผู้ใช้บริการใช้พลังงานอย่างประหยัดมากขึ้น บริษัทก็ยิ่งสามารถทำกำไรได้มากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดหาพลังงานลดลง อีกทั้งยังตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจและเป้าหมายในการลด Carbon Emission ของกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าด้วย ถือว่าได้ประโยชน์หลายต่อในคราวเดียว

 

การผสานพลังระหว่างธุรกิจพลังงานและเทเลคอม – โอกาสใหม่ใน EaaS

 

โอกาสและความท้าทายในประเทศไทย: การผสานพลังธุรกิจพลังงานและเทเลคอม

ตลาด EaaS จะเติบโตและสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งสามารถสื่อสาร เก็บข้อมูล และควบคุมการทำงานของโครงข่ายไฟฟ้าตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการใช้พลังงาน เชื่อมโยงระบบนิเวศ (Ecosystem) ได้อย่างไร้รอยต่อ

การมีโครงสร้างด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งจึงเป็นปัจจัยสำคัญในธุรกิจนี้ ขณะที่พื้นฐานด้านเทคโนโลยีและการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน

ประกอบกับการขยับตัวของผู้เล่นรายใหญ่จากทั้งภาคพลังงานและเทเลคอมที่เริ่มผนึกกำลังกันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจ จึงกลายเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง

แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ EaaS สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ คือ การเปิดเสรีในตลาดพลังงาน

เราอาจจะได้เห็นตลาด EaaS ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีนี้ก็อาจเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขันในตลาดอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน

ทิศทางของตลาด EaaS ในประเทศไทย

ในต่างประเทศ EaaS นั้น มีผู้นำตลาด อย่าง Schneider Electric Veolia และ Engie นอกจากนี้ยังเริ่มมีผู้เล่นรายใหม่ทยอยเข้าสู่สนามอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นยักษ์ใหญ่แห่งวงการน้ำมันอย่าง Shell และ BP ที่กำลังก้าวเข้าสู่น่านน้ำธุรกิจ EaaS เช่นกัน

เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ในแวดวงพลังงานระดับโลกต่างทยอยเบนเข็มทิศเข้าสู่น่านน้ำนี้กันมากขึ้น ทิศทางในประเทศไทยก็คงไม่แตกต่างกัน โดยเราเริ่มเห็นสัญญาณจากการรวมกันระหว่างธุรกิจพลังงานและเทเลคอม เป็นการบ่งบอกว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค แห่ง EaaS

จากการควบรวมนี้ จะสร้างข้อได้เปรียบที่สำคัญในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลและโครงข่าย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจสู่การเป็นผู้นำในตลาด EaaS ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถนำเสนอเทคโนโลยีและบริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่ 

อย่างไรก็ตาม จากความแข็งแกร่งของรวมตัวระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจพลังงานและเทเลคอม สร้างความสามารถในการเข้าถึงโครงข่ายที่สำคัญและข้อมูลผู้ใช้บริการจำนวนมาก อาจสร้างอุปสรรคให้กับผู้เล่นรายใหม่หรือธุรกิจขนาดเล็กในการเข้าสู่ตลาด EaaS

ตลาด EaaS จะมีความเข้มข้นของการแข่งขันลดลง ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการ EaaS นั้นมีตัวเลือกที่จำกัด และอาจส่งผลให้การพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจ EaaS และธุรกิจที่เกี่ยวข้องชะลอตัวลง 

แม้ว่า EaaS จะเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจและช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืนก็ตาม แต่เราต้องมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นประตูแห่งโอกาสสำหรับทุกคน และเปิดกว้างสำหรับผู้เล่นทุกขนาด

ดังนั้น ภาครัฐอาจต้องจับตาและตื่นตัวกับการพัฒนาการของตลาดพลังงานสู่ธุรกิจ EaaS ดังกล่าว

หากเราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างโอกาสและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ กับการรักษาโอกาสและการแข่งขันในตลาด เพื่อให้มั่นใจว่า พัฒนาการของธุรกิจ EaaS ก่อให้เกิดประโยชน์และกระจายประโยชน์ดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและประชาชนไทยทุกคน.

บทความโดย

พนัชกร อินทแพทย์

นักวิชาการแข่งขันทางการค้า, ฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจสินค้าบริโภค สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

ดร.ชินวัฒน์ หรยางกูร

ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างและระบบธุรกิจสินค้าบริโภค, สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า