'การบินไทย' เปิดเกมรุกสู้ตลาดโลก จับพันธมิตรดันซอฟต์พาวเวอร์

'การบินไทย' เปิดเกมรุกสู้ตลาดโลก จับพันธมิตรดันซอฟต์พาวเวอร์

“การบินไทย” ประกาศกลยุทธ์หลังพ้นฟื้นฟูกิจการ เดินหน้าพัฒนาบริการตอบโจทย์ผู้โดยสาร เฟ้นหาพันธมิตรทั่วไทย ดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นจุดแข็งสู้ตลาดโลก มั่นใจจะช่วยสร้างไอเดียใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และดันเป้าหมายครองมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 27%

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศกลยุทธ์สำคัญสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ ภายหลังเริ่มกระบวนการนำพาองค์กรออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมปรับโครงสร้างทุนและตั้งเป้าจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน มิ.ย.2568

"ชาย เอี่ยมศิริ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากตัวชี้วัดต่างๆ อาทิ Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร,  ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร และAircraft utilization หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน เพิ่มขึ้นบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น

โดยผลสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการปรับปรุงแผนดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การปรับเส้นทางบินและความถี่ของเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร รวมถึงการยกระดับคุณภาพการบริการด้านต่างๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย และเลือกใช้สายการบินไทย

อย่างไรก็ดี จากการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565 ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสารแล้ว 7.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.8%

นายชาย กล่าวด้วยว่า เพื่อเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนของการบินไทย ขณะนี้ได้กำหนดกลยุทธ์ดำเนินงานไว้ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบิน ดันไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อจุดหมายการบินทั่วโลก

2.การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ด้วยการเน้นจุดขายความเป็นไทยซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

3.การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

4.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว

5. มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

\'การบินไทย\' เปิดเกมรุกสู้ตลาดโลก จับพันธมิตรดันซอฟต์พาวเวอร์

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการผู้โดยสารเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่เราจะทำให้เห็นทันที เพื่อสร้างความประทับใจและสร้างจุดขายทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้การบินไทยเฟ้นหาพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการไทย เพราะเราต้องการสร้างจุดขายความเป็นไทยที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน”

สำหรับแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ขณะนี้ได้ร่วมกับ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด เปิดตัวบริการอาหารไทยริมทาง Streets to sky นำเอาอาหารไทยริมทางที่เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของประเทศมาเสิร์ฟบนเครื่องบิน อาทิ ข้าวกะเพราไก่ ข้าวมัสมั่นไก่ โกยซีหมี่ และข้าวซอยไก่ เมนูดังจากร้านลำดวนฟ้าฮ่าม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมเมนูอาหารไทยที่เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ นำพาวัฒนธรรมอาหารไทยไปสู่สากล ยังเป็นการสนับสนุนวัตถุดิบจากเกษตรกรไทยด้วย

\'การบินไทย\' เปิดเกมรุกสู้ตลาดโลก จับพันธมิตรดันซอฟต์พาวเวอร์

ขณะเดียวกัน การบินไทยยังนำเอาของหวานยอดฮิตจาก After you (อาฟเตอร์ ยู) มาให้บริการบนเที่ยวบิน อาทิ ขนมปังเนยโสดชาไทยโบราณ ขนมปังเปียกปูนกะทิโสด และขนมปังหม้อแกงเผือก รวมทั้งร่วมกับแบรนด์ Jim Thompson (จิม ทอมป์สัน) แบรนด์ผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียงมายาวนาน และได้รับการยอมรับระดับโลก พัฒนากระเป๋าพร้อมชุดสิ่งอำนวยความสะดวก (Amenity Kit) แบบใหม่ในคอนเซปต์รักษ์โลก โดดเด่นด้วยลายพิมพ์ออกแบบเฉพาะการบินไทยที่สะท้อนจากศิลปวัฒนธรรมไทย

นายชาย เผยด้วยว่า เพื่อสร้างความหลากหลายของบริการบนเที่ยวบิน นอกจากการสร้างจุดแข็งความเป็นไทยให้ผู้โดยสารทั่วโลกได้สัมผัสแล้ว การบินไทยยังมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างประสบการณ์การเดินทางแบบใหม่และพรีเมี่ยมให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจ (Royal Silk) และผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (Royal First Class)

โดยล่าสุดได้ร่วมกับแบรนด์ La Mer นำผลิตภัณฑ์ของใช้ที่มีคุณภาพทั่วโลกยอมรับมาให้บริการบนเที่ยวบิน สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ และผู้โดยสารชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ ยังคัดสรรวัตถุดิบมาปรุงอาหารเสิร์ฟบนเครื่อง โดยเฉพาะการเสิร์ฟ “คาเวียร์” ในรูปแบบตลับสุดพรีเมี่ยมน้ำหนัก 20 กรัม ซึ่งการบินไทยได้คัดเลือกมาจากฟาร์ม Caviar Giaveri (คาเวียร์จาเวรี) แคว้น Veneto (เวเนโต้) ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเดียวที่มีฟาร์มเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน และควบคุมการเลี้ยงด้วยระบบน้ำแร่

\'การบินไทย\' เปิดเกมรุกสู้ตลาดโลก จับพันธมิตรดันซอฟต์พาวเวอร์

นอกจากนี้ การบินไทยยังคัดเลือกผู้ผลิตไวน์ที่มีคุณภาพจากอิตาลีมาเสิร์ฟบนเที่ยวบิน ซึ่งเป็นไวน์ที่มาจากตระกูล Allegrini (อัลเลกรินิ) ผู้ผลิตไวน์ที่มีชื่อเสียงของแคว้นเวเนโต้ อิตาลี และมีประวัติอันยาวนานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยปัจจุบันสืบทอดวัฒนธรรมการผลิตไวน์จากรุ่นสู่รุ่น

“การยกระดับมาตรฐานการบริการในทุกด้าน เรามุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากล พร้อมสร้างประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจให้กับผู้โดยสาร และเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมา ด้วยกลยุทธ์เหล่านี้จะทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคตให้กับการบินไทย”

ทั้งนี้ การบินไทยตั้งเป้าจากการเดินหน้ากลยุทธ์เหล่านี้ จะส่งผลให้ผู้โดยสารเลือกใช้การบินไทย และดันส่วนแบ่งทางการตลาด ผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2572 ที่การบินไทยจะมีจำนวนเครื่องบินประจำฝูงบินรวม 143 ลำ จะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 27%