เดิมพันขุมทรัพย์พลังงาน ‘ไทย-กัมพูชา’ เปิดชื่อผู้รับสัมปทานเดิม 'เชฟรอน' 5 แปลง
“ไทย-กัมพูชา” เปิดเจรจาพื้นที่ทับซ้อนรอบใหม่ เดิมพันแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทย “แพทองธาร” ชี้เป็นนโยบายเร่งด่วน เผยแนวคิดเจรจา “เชฟรอน” ผู้รับสัมปทานเดิม 5 แปลง หาทางออกสิทธิสำรวจและผลิต “พลังงาน” หวัง ครม.เร่งตั้งทีมเจรจาชุดใหม่ สศช.หนุนรัฐบาลเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มความมั่นคงพลังงานให้ไทย
“พลังงาน” เผยเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล “ไทย-กัมพูชา” ไม่คืบ จี้ “ครม.” ตั้งคณะทำงานเจรจาดึงทรัพยากรใต้ทะเลมาใช้ประโยชน์โดยเร็ว “กรมเชื้อเพลิง” ย้ำ พร้อมสนับสนุนการเจรจารัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่จะขับเคลื่อนนโยบายเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และล่าสุดได้มีการพบกันระหว่าง น.ส.แพทองธาร กับ ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ารัฐบาลไทยจะเริ่มการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาอีกครั้ง เพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (กว่า 10 ล้านล้านบาท) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ มีข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การสำรวจร่วมกันเป็นหนึ่งใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนสูงสุดของรัฐบาล เพราะไทยต้องการเพิ่มปริมาณพลังงานสำรองที่กำลังลดลง รวมถึงควบคุมเรื่องค่าไฟ และการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น
ทั้งนี้ การเจรจาของรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในช่วงต้นปี 2567 เพื่อแสดงเจตจำนงในการเริ่มเจรจาพื้นที่ทับซ้อน
สำหรับการเจรจาดังกล่าวจะหาข้อสรุปการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคาดว่าพื้นที่นี้จะมี ก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบ 300 ล้านบาร์เรล
ทางด้านเพ็ญ โบนา โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ต่อรายงานข่าวนี้ว่า กัมพูชายังคงมุ่งมั่นที่จะหารือประเด็นนี้กับไทย “หากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม เราก็ยินดีที่จะดำเนินการเจรจาต่อไป”
เจรจาพื้นที่ทับซ้อน “นโยบายเร่งด่วน”
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาจึงวางนโยบายด้านพลังงานเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะต้องการเพิ่มปริมาณสำรองที่กำลังลดลง และควบคุมราคาไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งรัดให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมหาข้อยุติดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากนายพีระพันธุ์ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยอมรับว่าการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังมาเป็นเวลานาน เพราะการทำงานจะต้องมีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน
แหล่งข่าว กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงานได้เตรียมข้อมูลให้รัฐบาลเพื่อใช้ในการเจรจา โดยเมื่อผู้นำเปิดการเจรจาไปแล้วจะต้องมาลงรายละเอียดที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน
นอกจากนี้ แนวทางการเจรจาได้พิจารณาบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนปี 2544 (MOU 2544)
ประกอบด้วยการเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร
ทั้งนี้ สำหรับการทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตาม MOU 2544 มีแนวทางที่จะพักการเจรจาส่วนนี้ไว้เพราะจะหาข้อสรุปได้ลำบาก และจะมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ทางทะเล
รวมทั้งจะมีการเจรจารูปแบบการพัฒนาพื้นที่ และการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งไทย และกัมพูชาต่างให้สัมปทานสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร
“เชฟรอน”ครองสัมปทานเดิม 5 แปลง
แหล่งข่าวจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า สำหรับผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย
1.แปลง B5 & B6 พื้นที่ 10,155 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ Idemitsu Oil 50% (Operator) , Chevron E&P 20% , Chevron Block 5 and 6 10% และ Mitsui Oil Exploration 20%
2.แปลง B7 B8 B9 พื้นที่ 10,420 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ BG Asia 50% , Chevron Overseas Petroleum 33.33% และ Petroleum Resources 16.67%
3.แปลง B10 B11 พื้นที่ 2,785 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Chevron Thailand E&P 60% และ Mitsui Oil Exploration 40%
4.แปลง B12 B13 (บางส่วน) พื้นที่ 890 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ Chevron Thailand E&P 80% และ Mitsui Oil Exploration 20%
5.แปลง G9/43 พื้นที่ 2,619 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 100% ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
6.แปลง B14 พื้นที่ 133 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 80% , Chevron Thailand E&P 16% และ Mitsui Oil Exploration 4%
Conoco-Total รับสัมปทานฝั่งกัมพูชา
ส่วนผู้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชาที่มีการให้สิทธิสัมปทานเมื่อปี 2540 ที่กรุงเทพธุรกิจ รายงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
พื้นที่ I & II 20,576 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Conoco Inc 66.667% (Operator) และ Idemitsu 33.333%
พื้นที่ III 2,785 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Total EP Cambodge
พื้นที่ IV 3,642 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ CNOOC 63% , Ministry of Mines & Energy 10% และ Resourceful Petroleum 27%
เผยแนวคิดเจรจาผู้รับสัมปทานเดิม
แหล่งข่าว กล่าวว่า การให้สัมปทานของรัฐบาลไทยในปี 2511 เป็นบริษัทต่างชาติได้สิทธิสัมปทาน 4 แปลง และมีบริษัทไทยรายเดียวที่ได้สิทธิ 1 แปลง แต่เป็นแปลงขนาดเล็กและสิทธิดังกล่าวปัจจุบันตกมาอยู่ที่ ปตท.สผ.
ทั้งนี้ในช่วงปี 2511 บริษัทไทยยังไม่มีศักยภาพในการสำรวจ และผลิตทำให้สัมปทานตกเป็นของบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นทำให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางที่จะทำให้บริษัทไทยที่มีความพร้อมในการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมมากกว่าเมื่อ 56 ปี ที่ผ่านมา ได้ประโยชน์ในกรณีที่การเจรจาได้ข้อสรุป และเข้าสู่กระบวนการสำรวจและผลิต ซึ่งอาจต้องมีการเจรจากับบริษัทต่างชาติที่ได้สัมปทาน
นอกจากนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ปตท.สผ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปตท.วันที่ 12 เม.ย.2567 ว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่มสนับสนุนภาครัฐเจรจาแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพราะการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ ดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคม
รวมทั้ง ปตท.จะจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้ามาทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่กำลังลดลงซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศได้ โดย ปตท.และบริษัทในเครือ มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้ภาครัฐ และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วยให้การพัฒนาพื้นที่มีประสิทธิภาพ
“รัฐบาลเพื่อไทยได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการเจรจาตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา และเมื่อเปลี่ยนมาเป็น น.ส.แพทองธาร ยิ่งมั่นใจได้ว่าการเจรจาน่ามีความคืบหน้าไม่มากก็น้อย” แหล่งข่าว กล่าว
หวัง ครม.เร่งตั้งทีมเจรจาชุดใหม่
แหล่งข่าว กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะดำเนินการอะไรไม่ได้ เนื่องจากคณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาชุดใหม่ ซึ่งนายพีระพันธุ์ เองต้องการความชัดเจนถึงขอบเขต และอำนาจ เพราะก่อนหน้านี้ ประธานในการเจรจา คือ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ดังนั้น การหารือในประเด็นดังกล่าวไม่ใช่แค่หารือกับกัมพูชาเท่านั้น แต่คณะทำงานในไทยก็ควรจะมีความชัดเจน เพราะเรื่องนี้มีทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายกฎหมาย ที่ควรจะต้องเป็นทีมเดียวกัน อีกทั้ง แม้จะได้คณะทำงานร่วม และเมื่อตกลงกันแล้วเสร็จก็ต้องเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาต่อ และหากเจรจาสำเร็จกว่าจะผลิตได้จริงก็จะใช้เวลาหลายปี
นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุน และซัพพอร์ตข้อมูลทุกอย่างเพื่อให้การเจรจาสำเร็จลุล่วงด้วยดี
สศช.หนุนรัฐบาลเจรจาพื้นที่ทับซ้อน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมรองรับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของสงครามในตะวันออกกลาง สภาพัฒน์มองว่า ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในระยะยาว โดยเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) รัฐบาลไทย และกัมพูชากำลังทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน
ดังนั้น ในการเจรจาจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ โดยรูปแบบใช้การพัฒนาพื้นที่ร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย (JDA) ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว ส่วนเงินทุนในการลงทุนคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในการดำเนินการ ซึ่งมีหลายรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้
“บริเวณดังกล่าวถือว่ามีทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงานที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับทั้งสองประเทศได้ในระยะยาว และรองรับความผันผวนของราคาพลังงานในกรณีที่มีความขัดแย้งบริเวณแหล่งผลิตน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้า ซึ่งอาจมีการขยายพื้นที่สงครามได้ ” นายดนุชา กล่าว
กัมพูชาอาจไม่รีบเข้าขั้นตอนเจรจา
บลูมเบิร์ก ระบุว่ากัมพูชามีเหตุผลน้อยกว่าที่จะรีบเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้ว่าจะต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดก็ตาม ซึ่งต่างจากไทย โดยกัมพูชาขาดอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซในประเทศที่แข็งแกร่ง และน่าจะยังคงต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงาน และการจัดหาเชื้อเพลิงต่อไป
“หากไม่คิดเรื่องรูปแบบการแบ่งปันรายได้ ผู้ผลิต และผู้รับสัมปทานของไทยจะต้องรับภาระงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทของไทยจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด” บริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ในกรุงเทพฯ ระบุในรายงานเมื่อปีที่แล้ว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์