EEC กับความพร้อมฝ่าวิกฤตน้ำยุคโลกรวน

EEC กับความพร้อมฝ่าวิกฤตน้ำยุคโลกรวน

ภาวะอุทกภัยรอบนี้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงกว่าหลายคนคาด เป็นที่น่าสังเกตว่าสภาพอากาศกำลังแปรปรวนอย่างสุดขั้ว โดยราว 4-5 เดือนก่อน

 หลายพื้นที่ของไทยเพิ่งถูกบันทึกว่าเป็นฮอทสปอตทะลุเดือด นักลงทุนอาจมีคำถามเจาะลงไปถึงทำเลทองอย่าง “อีอีซี” ว่าเราพร้อมแค่ไหนกับแบบทดสอบที่ยากเกินคาดเดา

เรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกเพราะความผันผวนสุดขั้วอยู่ในละแวกบ้านเราเอง UNEP รายงานเมื่อเดือนเมษายน 2567 ว่าเอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลก อุณหภูมิเฉลี่ยใกล้พื้นผิวสูงกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนถึง 0.91°C อากาศที่ร้อนเร็วกว่าส่วนอื่นของโลกทำให้ชาวเอเชียต้องเผชิญกับภัยที่รุนแรงกว่าใคร ไทยเราเองต้องประสบปัญหาอากาศแปรปรวนถี่มากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมซึ่งเป็นวิบัติภัยสำคัญ World Bank รายงานว่า น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ทิ้งความเสียหาย 46.5 พันล้านดอลลาร์ (คิดเป็น 12.6% ของ GDP) ความไม่แน่นอนของภัยธรรมชาติก่อให้เกิดคำถามถึงการจัดการความเสี่ยงเพื่อมิให้กระทบต่อการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี

ที่ผ่านมาอีอีซีผ่านความท้าทายจากภัยแล้งและน้ำท่วมมาได้อย่างดี ทั้งที่เป็นภูมิภาคซึ่งมีอากาศแปรปรวนสูงสุด เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 17% ด้านการรับมือกับอากาศผันผวนนั้น อีอีซีได้เตรียมระบบโครงข่ายเพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ และหนองปลาไหล-คลองใหญ่-ดอกกราย เพื่อเสริมปริมาณน้ำสำรอง โจทย์ข้อยากกว่าคือ อากาศแปรปรวนรุนแรงในอีก 5-6 ปีข้างหน้าจะมีหน้าตาแบบไหนและอีอีซีจะออกอาวุธอย่างไร การศึกษาของ McKinsey เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมมองว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มไปถึง 1.5°C จากช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกกรรม โลกที่ร้อนเร็วมากจะเพิ่มความยุ่งยากต่อการจัดการน้ำ โดยความต้องการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกอาจแตะปีละ 3.1 พันล้านลูกบาศก์เมตรเทียบจาก 2.4 พันล้านลูกบาศก์เมตรในขณะนี้ ทั้งนี้อีอีซีได้เตรียมแหล่งน้ำใหม่ไว้ เช่น คลองพะวาใหญ่ วังโตนด จากจันทบุรี หรือคลองพระสะทึง สียัด จากฉะเชิงเทรา

แม้ว่าอีอีซีจะดักทางด้วยการเติมแหล่งน้ำใหม่รอไว้ แต่การแก้ปัญหายังมุ่งเน้นที่การสำรองน้ำมากกว่าประเด็นการใช้น้ำ เช่น ลดพฤติกรรมสิ้นเปลืองหรือน้ำสูญเสีย การบำบัดน้ำแล้วนำมาใช้ใหม่ ตลอดจนการเสริมระบบชลประทานผ่านอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือแก้มลิง ซึ่งนอกจะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งแล้ว ยังสามารถเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อีกด้วย หากทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ปัญหาน้ำแบบเป็นองค์รวม เชื่อว่าอีอีซีจะมีกระสุนพอสำหรับรับมือกับวิกฤตน้ำในระยะข้างหน้า