รัฐบาลคุม 'อปท.' กู้นอกประเทศลงทุนในท้องถิ่น ต้องรายงานตรง รมว.คลัง - ครม.
ครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์ก่อหนี้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดกว้างให้มีการลงทุนในกิจการสาธารณูปโภคในท้องถิ่นแข่งกับเอกชนได้ ให้กู้เงินสกุลต่างประเทศมาลงทุนได้แต่ต้องรายงานตรงต่อ รมว.คลัง และ ครม. ปรับนิยามหนี้ท้องถิ่นให้ครอบคลุม รวมค่าธรรมเนียมการกู้เงินด้วย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....ตามที่ คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม.ตรวจพิจารณาแล้ว โดยร่างระเบียบของคณะกรรมการ
โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2561 โดยปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารหนี้ การกำกับดูแล และการรายงานข้อมูลหนี้ของ อปท. เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ของ อปท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ตลอดจนมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขอกู้เงินเป็นไปตามลำดับขั้นตอนและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยยังคงหลักการเดิมไว้
ทั้งนี้สาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลักเกณฑ์การกู้เงินของ อปท.ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2561 มีจำนวน 4 ข้อ ดังนี้
1.ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงิน การบริหารหนี้ และการกำกับดูแลให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ จากเดิมที่กำหนดให้โครงการลงทุนที่ อปท. จะต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการจะต้องไม่เป็นโครงการที่ดำเนินการแข่งขันกับเอกชน ปรับเปลี่ยนใหม่เป็นโครงการลงทุนที่ อปท. จะต้องดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ อปท. สามารถดำเนินการแข่งขันกับเอกชนได้ เฉพาะกรณีเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ
อย่างไรก็ตามกรณีที่ อปท. จะกู้เงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ หรือกู้เงินจากต่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนด้วย
2.ข้อกำหนดในเรื่องของกระบวนการก่อนการเสนอขอกู้เงินของ อปท.
ในการปรับปรุงกฎหมายครั้งล่าสุดนี้กำหนดเพิ่มเติมให้ อปท. ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ และแสดงรายได้หรือผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมทั้งรายละเอียดวงเงินกู้ และแผนการชำระหนี้เงินกู้
ทั้งนี้หากโครงการมีผลกระทบต่อชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม ให้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้ อปท. เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินเพื่อทำโครงการลงทุน และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้แก่ประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน ก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์เดิม
จากเดิมกำหนดเพียงว่า อปท.ต้องรวบรวมกระบวนการจัดทำโครงการลงทุนและขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลไว้ในข้อเดียวกัน เพื่อให้ขั้นตอนการเสนอขอความเห็นชอบ หรืออนุมัติการกู้เงิน มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ที่กำหนดให้ อปท. เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินเพื่อทำโครงการลงทุน และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้แก่ประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 15 วัน ก่อนเสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ โดยมีรายละเอียดที่ต้องเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็น เช่น เหตุผลความจำเป็นในการกู้เงิน รายละเอียดของการกู้เงิน และผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
3.การปรับปรุงบทนิยามของภาระหนี้ ตามกฎหมายจากเดิม กำหนดคำนิยามคำว่า “ภาระชำระหนี้” ที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน โดยไม่รวมถึงค่าธรรมเนียม มาเป็นกำหนดคำนิยามคำว่า “ภาระชำระหนี้”เพิ่มเติม โดยให้รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน เพื่อให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด ที่เป็นต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของ คนน. สถาบันการเงินและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ
และ 4.การรายงานข้อมูล หนี้ของ อปท. จากเดิมให้ อปท. จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของ อปท. ซึ่งประกอบด้วย การก่อหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ยอดหนี้คงค้าง ภาระหนี้ วัตถุประสงค์การกู้เงิน วงเงิน อัตราดอกเบี้ย อายุเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ สัดส่วนยอดหนี้คงค้างต่อรายได้ และสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ รวมทั้งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เป็นรายไตรมาสตามแบบที่ สบน. กำหนด
โดยเปลี่ยนใหม่เป็นให้ อปท. จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของ อปท. เพิ่มเติม โดยกำหนดการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการกู้เงินให้ครอบคลุมข้อมูลหนี้เงินกู้จากเงินทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เงินทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล เงินทุนส่งเสริมกิจการของ อปท. อื่นๆ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
โดยให้มีการนำส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังหน่วยงานกลางในการกำกับดูแล อปท. แต่ละประเภท และสบน. เพื่อให้กรอบในการคำนวณเพดานการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการลงทุนครอบคลุมถึงต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินของ อปท. ได้อย่างครบถ้วนด้วย