ผลผลิตข้าวทะลุ 34 ล้านตันข้าวเปลือก น้ำท่วมไม่กระทบแหล่งเพาะปลูก

ผลผลิตข้าวทะลุ 34 ล้านตันข้าวเปลือก    น้ำท่วมไม่กระทบแหล่งเพาะปลูก

"ผู้ส่งออกข้าว" ชี้ อีสานแหล่งปลูกข้าวสำคัญของไทยไม่ได้ผลกระทบจากน้ำท่วม คาดผลผลิตข้าวทั้งปีได้ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือก สูงกว่า ปี 66 มั่นใจทั้งปีส่งออกข้าวได้ตามเป้า ห่วงปี 68 อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวกระทบยอดส่งออกข้าวไทยแน่

นายชูเกียรติ  โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงผลกระทบจากน้ำท่วมต่อปริมาณผลผลิตข้าว ว่า ยังไม่เห็นชัดเจนเพราะภาคอีสานที่เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปี 2567 มากนัก 

สำหรับน้ำท่วมส่วนใหญ่ท่วมที่ภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบ้างในบางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือตอนล่างซึ่งปลูกข้าวก็อาจจะได้รับผลกระทบต่อการปลูกข้าวบ้าง ที่บอกว่าเสียหายเป็นแสนไร่ก็ยังไม่ชัดเจนหรือเป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นและอาจกลับมาปลูกข้าวอีกครั้งได้หลังน้ำท่วมลดลง ดังนั้นจึงเป็นภาพที่เห็นไม่ชัด

“ผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ปลูกข้าวอาจะมีบ้างแต่ไม่มาก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภาคอีสานที่เป็นแหล่งปลูกข้าวใหญ่ของประเทศที่เดิมเป็นห่วงว่าพื้นที่จะน้ำท่วมแต่ก็ไม่ท่วม แต่หากน้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานีเหมือนเช่น 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวมาก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ”นายชูเกียรติ กล่าว

ผลผลิตข้าวทะลุ 34 ล้านตันข้าวเปลือก    น้ำท่วมไม่กระทบแหล่งเพาะปลูก

นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับผลผลิตข้าวในปี 2567 คาดว่าน่าจะมีผลผลิตมากกว่าปีที่แล้วเพราะทั้งข้าวนาปีและนาปรัง ผลผลิตก็ออกมาดี ประเมินว่า ผลผลิตข้าวน่าจะประมาณ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือก 

ขณะที่ปี 2566 อยู่ที่ 32 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากน้ำในเขื่อนสำคัญมีปริมาณน้ำเต็มเขื่อนซึ่งจะช่วยการปลูกข้าวนาปรังในปีหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องใช้น้ำมาเพื่อปลูกข้าว เช่น เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ขณะนี้มีน้ำถึง 71% ของความจุเขื่อนและยังมีน้ำไหลเข้ามาในเขื่อนอยู่เรื่อยๆ ส่วนเขื่อนอื่นๆก็มีน้ำเต็มเช่นกัน ซึ่งจะมีผลต่อการเพาะปลูกข้าวในปีหน้าด้วย

ส่วนในพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลาง ก็ไม่น่าเป็นห่วง ดูจากการทำงานของหน่วยงานบริหารจัดการน้ำก็ถือว่ายังบริหารจัดการได้ดี แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามกันต่อไป อีกทั้งช่วงนี้ใกล้หมดหน้าฝนแล้ว หากไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามา 1-2 ลูก สถานการณ์ก็ไม่น่าห่วง

ดังนั้นในปีนี้เชื่อว่า น้ำท่วมไม่ได้ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ส่วนราคาข้าวในประเทศก็เป็นไปตามกลไกการตลาด หากปริมาณข้าวมาก ส่งออกได้มากก็ทำให้ราคาข้าวในประเทศสูง แต่หากปริมาณข้าวมาก แต่ส่งออกน้อย ราคาข้าวในประเทศก็จะปรับลดลง

นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 9 เดือนปีนี้ ไทยส่งออกข้าวไปแล้ว 7 ล้านตัน ช่วงที่เหลือก็คาดว่าการส่งออกข้าวยังทำได้ดีอยู่ โดยในเดือน ต.ค.นี้ยังมีคำสั่งซื้อที่ค้างมาจากเดือนก่อนหน้านี้ ที่ประเทศอินเดียยังไม่ยกเลิกการแบนการส่งออกข้าวก็ทำให้ไทยส่งออกได้ แต่หลังจากเดือนนี้ก็คาดว่าการส่งออกข้าวขาวก็น่ามีปัญหาเพราะอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง 

ขณะที่ในช่วงปลายปี 2567 ข้าวหอมมะลิจะออกสู่ตลาด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีความต้องการสั่งซื้ออยู่ก็จะทำให้ตัวเลขการส่งออกในไตรมา 4 ไม่เลวร้ายลงจากการที่ส่งออกข้าวขาวได้น้อยลง ประเมินว่าเฉลี่ย 3 เดือนที่เหลือน่าจะส่งออกได้เดือนละ 6 แสนตัน เมื่อรวมกับการส่งออกข้าว 9 เดือน ทั้งปีก็น่าจะได้ 8.6 -8.7 ล้านตัน

สิ่งที่เป็นห่วงมากกว่าคือ การส่งออกในปี 2568 โดย 40% ของยอดการส่งออกข้าวทั้งหมดเป็นการส่งออกข้าวขาว ซึ่งหากส่งออกข้าวขาวลดลงก็จะส่งผลต่อยอดการส่งออกข้าวไทยลดลง เนื่องจากอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง โดยแต่ละปีอินเดียส่งออกข้าวขาว 5-6 ล้านตัน ซึ่งในช่วงเวลา 2 ปีที่อินเดียแบนส่งออกข้าวขาว ไทยได้รับอานิงสงค์ส่งออกข้าวขาวเพิ่ม 2 ล้านตัน 

ส่วนที่เหลือก็เป็นประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม พม่า ปากีสถาน เมื่ออินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้งส่วนแบ่งการตลาดตรงนี้ก็คืนกลับไปที่อินเดียเพราะอินเดียได้เปรียบในเรื่องของราคาข้าวที่ถูกกว่าไทย ทั้งนี้สมาคมฯยังไม่มีการตั้งเป้าการส่งออกข้าวในปี 2568 รอประเมินสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกก่อน โดยเฉพาะราคาข้าวของอินเดีย

นอกจากนี้ในเรื่องของบาทอ่อนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ราคาข้าวไทยมีความแตกต่างจากราคาข้าวของคู่แข่ง โดยการแข่งค่าทุกๆ 1 บาทจะทำให้ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้น 15-16 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ประเทศอื่นๆอ่อนค่าน้อยกว่าไทย โดยเฉพาะ อินเดียอ่อนค่ามากกว่ามาก ทำให้ระยะห่างของอัตราแลกเปลี่ยนห่างเยอะขึ้น