“จีน”ร้อง“WTO”ตุรกีขวางนำเข้ารถยนต์ ไทยต้องรู้ไว้

“จีน”ร้อง“WTO”ตุรกีขวางนำเข้ารถยนต์ ไทยต้องรู้ไว้

ทั่วโลกกำลังต้องการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี กำลังถูกท้าทายจากมาตรการทางการค้าต่างๆที่หลายประเทศกำลังนำออกมาใช้

เนื่องจากความกังวลว่าตลาดอีวีกำลังถูกครอบงำจากประเทศจีน จากหลายสาเหตุทั้งศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของจีนเอง และอาจมีเงื่อนไขความขัดแย้งทางการค้าอื่นๆแอบแฝงอยู่ 

รายงานข่าวจากองค์การการค้าโลก หรือ WTO เปิดว่าว่า จีนได้ร้องขอให้มีการปรึกษาหารือกับWTO เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่ตุรกีกำหนดขึ้นสำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ประเภทอื่นๆ ที่มาจากจีน คำร้องดังกล่าวได้ถูกส่งต่อไปยังสมาชิกWTOเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2567 ที่ผ่านมา 

จีนอ้างว่ามาตรการที่เป็นปัญหา ซึ่งรวมถึงภาษีเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ข้อกำหนดเกี่ยวกับใบรับรองการนำเข้า และภาษีเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ประเภทอื่นๆ และการยกเว้นใบรับรองการลงทุน ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติต่างๆ ของข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 และข้อตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า”คำร้องระบุ

สำหรับการส่งคำร้องขอให้มีการปรึกษาหารือดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นข้อพิพาทอย่างเป็นทางการในองค์การการค้าโลก การปรึกษาหารือจะให้โอกาสคู่กรณีได้หารือเรื่องนี้และหาทางออกที่น่าพอใจโดยไม่ต้องดำเนินคดีต่อไป หากการปรึกษาหารือไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาทได้ภายใน 60 วัน ผู้ร้องเรียนอาจขอให้คณะลูกขุนตัดสินคดี

สำหรับตลาดรถยนต์ประเทศไทย ภาพรวมในประเทศ 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2567) ปิดยอดขาย 4.3 แสนคัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าทั้งปีจะทำได้ประมาณ 6 แสนคัน(หรือต่ำกว่า) ซึ่งเป็นการขายที่ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ของตลาดรถยนต์ไทย

ในขณะที่ตลาดในประเทศร่วง 25% ด้านยอดส่งออกก็ลดลงที่ 4.9% สอดคล้องกับยอดผลิตรถยนต์ที่ยังลดลง 20%  โดยเดือนม.ค. – ส.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 688,633 คัน ลดลง 4.94 % ดังนั้นการจะไปให้ถึงเป้าหมายสิ้นปีที่ 1.15 ล้านคัน ถือเป็นเรื่องยาก

สมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย (TAPMA) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่า และสงครามตะวันออกกลาง คาดว่าจะขยายวงกว้างขึ้น และจะส่งผลกระทบกับตลาดส่งออกของไทย และเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากตะวันออกกลางถือเป็นหนึ่งตลาดที่มีความสำคัญกับไทย

“เงินบาทที่แข็งค่า กระทบการส่งออกมาก เพราะลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ และส่งผลในภาพรวมทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเรากับคู่แข่งลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการแต่ละรายในช่วงก่อนหน้านี้ก็ปรับตัวไม่ทัน ดังนั้น สมาคมฯจึงสะท้อนความคิดเห็นผ่านสภาอุตฯ ไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ค่าเงินที่ลงแรงกระทบกับผู้ส่งออกอย่างไร ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมาค่าเงินที่ปรับมาในระดับ 33 บาท ก็ถือว่าดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าอยากให้อยู่ในระดับไหนที่รับได้ก็ต้องบอกว่าอยู่ที่ 34-35 บาท”

ด้านสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สงครามตะวันออกกลางในช่วงที่ผ่านมา หรือระยะหลังนี้ ขยายการสู้รบมากขึ้น ทำให้การส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนเริ่มได้รับผลกระทบ โดยมีการส่งออกลดลงจากจำนวนเที่ยวเรือที่มารับลดลง และค่าขนส่งสูงขึ้น

“ตัวเลขการส่งออกที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาเรื่องพื้นที่ในการเดินเรือไม่เพียงพอและล่าช้า และปัญหาสิ่งสกปรกในท่าเรือที่ติดในรถกระบะที่เตรียมขับขึ้นเรือ ทำให้การผลิตรถกระบะเพื่อส่งออกลดลง 12.92 % ซึ่งกระทบกับตลาดเช่น ออสเตรเลีย แอฟริกา ยุโรป และปัญหาสงครามอิสราเอลกับฮามาส ที่ขยายวงกว้าง เราต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2567 เอาไว้ 1.7 ล้านคัน แบ่งเป็นส่งออก 1.15 ล้านคัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 5.5 แสนคัน

แม้สัญญาณความขัดแย้งนี้ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรงแต่ไทยในฐานะผู้ผู้ผลิตรถยนต์สันดาป และกำลังจะเข้าสู่ยุทธจักรอีวี โดยมีทุนจากประเทศจีนเป็นกำลังสำคัญอาจต้องรู้เรื่องนี้ไว้