สรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติยืดเยื้อ 'แคนดิเดต 'โยงการเมือง กรรมการพิงข้อกม.
เปิดปัจจัยเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ยืดเยื้อ กระแสไม่เอาประธานบอร์ดแบงก์ชาติจากฝ่ายการเมืองมาแรง ทำบอร์ดสรรหาเลื่อนประชุม ต้องยึดกฎหมายชัดเจน ชี้แจงสังคมได้
KEY
POINTS
- การเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติยืดเยื้อออกไปหลังประชุมนัดแรก 9 ต.ค. ยังไม่เคาะชื่อ และมีประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนึ่งในแคนดิเดตเมื่อ ป.ป.ช.ตัดสินใจอุทธรณ์คดีข้าวบลูล็อคสมัยที่อดีตรองนายกฯและรมว.คลังกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทำให้กรรมการสรรหาฯต้องพิจารณาในเรื่องนี้เพิ่มเติม
- ส่วนประเด็นการเชื่อมโยงกับการเมืองนั้นแคนดิเดต ทั้ง 3 คนก็มีความเชื่อมโยงกับทางการเมือง
- กรรมการคัดเลือกฯต้องฝ่ากระแสแรงกดดันยึดข้อกฎหมายเป็นหลักในการคัดเลือกเพื่อให้สามารถอธิบายและตอบคำถามสังคมได้ทุกข้อ
ความคืบหน้าล่าสุดของการเลือกประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่กระทรวงการคลัง และธปท.ได้เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.จำนวน 3 คน ได้แก่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ประจำสาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด และกรรมการ ธปท.ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปโดยเลขานุการของคณะกรรมการได้แจ้งขอระยะเวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเพิ่มเติม
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการสรรหาฯรอบใหม่โดยเดิมได้มีการกำหนดไว้ในวันที่ 4 พ.ย.2567 แต่ก็อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อนเพราะฝ่ายเลขานุการของบอร์ดคณะกรรมการสรรหายังไม่ได้ยืนยันการประชุม โดยระบุว่ายังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติโดยมีกรอบระยะเวลาทำงานภายใน 120 วันหลังจากที่ประธานบอร์ด ธปท.คนเก่าหมดวาระเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสามารถรักษาการไปจนถึงวันที่ 16 ม.ค.2568 แต่ขั้นตอนคงไม่ต้องใช้เวลายาวนานขนาดนั้นแต่ก็ต้องใช้ความรอบครอบเป็นอย่างมาก
บอร์ดสรรหาถก 2 ประเด็น คดีความ-ตำแหน่งการเมือง
แหล่งข่าวระบุด้วยว่าประเด็นที่คณะกรรมการสรรหาให้น้ำหนักในการพิจารณาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่จะเป็นคุณสมบัติตามข้อกฎหมาย ที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551
โดยประเด็นที่มีการถกเถียงกันของกรรมการในครั้งที่ผ่านมามีอยู่ 2 ประเด็นหลักคือเรื่องของการถูกฟ้องร้องคดีความของผู้สมัคร รวมทั้งคดีที่อยู่ในมือขององค์กรอิสระ ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของประเด็นการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กฎหมายกำหนดว่าต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
ต้องไม่เคยถูกพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก
สำหรับประเด็นแรกคือเรื่องของคดีความนั้นกรรมการฯเห็นค่อนข้างตรงกันว่าในข้อกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
โดยเมื่อยึดตามข้อกฎหมายนี้ประเด็นที่เคยมีผู้ให้ความเห็นว่านายกิตติรัตน์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวกได้ปล่อยปะละเลยให้มีการการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี)ให้กับองค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) จำนวน 3 แสนตัน หรือ “คดีข้าวบูล็อค”ซึ่งต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง แต่ ป.ป.ช.ได้มีการส่งเรื่องขออุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการอัยการสูงสุด (อสส.) ให้เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้มีการฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่
กิตติรัตน์ไม่ขาดคุณสมบัติ
ซึ่งในชั้นนี้ต้องรอ อสส.พิจารณาว่าจะยื่นไปตามที่ ป.ป.ช.ร้องขอหรือไม่ ซึ่งหากดำเนินการก็จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกพอสมควร แต่ก็ถือว่าคดีความในเรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุดและต้องถือว่า นายกิตติรัตน์ไม่ได้ขาดคุณสมบัติเพราะถือว่าไม่ได้ต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาแต่อย่างไร
ส่งตีความคุณสมบัติการเมืองกิตติรัตน์ - กุลิศ
อีกประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการมีการถกเถียงกันคือเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามในเรื่องที่ประธานบอร์ดต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีในประเด็นนี้มีการหยิบยกประเด็นที่นายกิตติรัตน์เคยเป็นประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในสมัยอดีตนายกฯเศรษฐา รวมทั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานของคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองเช่นกัน
แหล่งข่าวระบุว่าในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมับัติกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะนายกิตติรัตน์แต่ต้องมีการตรวจสอบทั้งในส่วนของแคนดิเดตทั้ง 3 คน ทีได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ และรายชื่อของกรรมการที่ได้รับการเสนอชื่ออีก 6 รายด้วย เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกับผู้สมัครทุกราย โดยนอกจากนายกิตติรัตน์จะเคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายกุลิศก็เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน
บอร์ดสรรหาถกปมตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ
ทั้งนี้ในเรื่องการเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและตีความกันพอสมควรว่าถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากตำแหน่ง "ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี" ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่ง เหมือนกับการได้รับการแต่งตั้งเป็น “ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ซึ่งตำแหน่งนั้นถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้งมีได้ 5 คน และทุกคนได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ประเด็นนี้จึงต้องอาศัยการตีความจากฝ่ายกฎหมายว่าการเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เพราะหากเป็นตำแหน่งทางการเมืองก็จะกระทบกับคุณสมบัติของทั้งกิตติรัตน์ และกุลิศ
3 แคนดิเดตภาพโยงการเมือง
ส่วนประเด็นของ ดร.สุรพล นั้นแม้ว่าจะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนแต่ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง เช่นกันและเป็นประเด็นที่บอร์ดสรรหาอาจจะหนักใจ เพราะที่ผ่านมาได้ปรากฏว่าได้ไปเป็นพยานปากสำคัญของพรรคก้าวไกลในการต่อสู้คดียุบพรรคที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ก่อนที่พรรคก้าวไกลจะถูกศาลรธน.ตัดสิทธิ์ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารบางคน
กรรมการยึดข้อกฎหมายเคร่งครัด
ท่ามกลางกระแสกดดันไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงแบงก์ชาติแต่เท่ากับว่าแคนดิเดตประธานบอร์ดทั้ง 3 คนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทุกคน ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯจึงต้องเคร่งครัดในการยึดข้อกฎหมายเพื่อให้สามารถตอบคำถามสังคมได้อย่างชัดเจนเมื่อประกาศชื่อประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ออกมาให้สาธารณะชนได้ทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.ข้อกฎหมายได้กำหนดว่าระเบียบด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่กำหนดว่าในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการ ธปท. แล้วแต่กรณี ให้ประธานกรรมการคัดเลือกแจ้งให้ผู้ว่าการและปลัดกระทรวงการคลังเสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ต่อคณะกรรมการคัดเลือก ภายในเวลาที่ประธานกรรมการคัดเลือกกำหนด โดยให้ผู้ว่าการเสนอเป็นจำนวนไม่เกินสองเท่าและปลัดกระทรวงการคลังเสนอเป็นจำนวนไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้ง ตามสำคับ
โดยกำหนดให้บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำเเหน่งในคณะกรรมการ ธปท. ได้แก่ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมาย ด้านบัญชีหรือด้านอื่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการของ ธปท.
นอกจากนี้กำหนดคุณสมบัติ ต้องห้าม ประธานบอร์ดแบงก์ชาติไว้ 8 ข้อ ได้แก่
- เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
- เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของ พรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
- เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นการดำรง ตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
- เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสีย อย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคล ซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท. ดังเช่น
(ก) นิติบุคคลที่เข้าเป็นคู่สัญญาทางธุรกิจ หรือกำลังจะเป็นคู่สัญญาทางธุรกิจ กับ ธปท. อันมีลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท.
(ข) นิติบุคคลที่อยู่ภายได้การกำกับหรือตรวจสอบของ ธปท. เว้นแต่เป็น การดำรงตำแหน่งเนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
และ 8.เป็นคู่สัญญาหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาหรือกิจการของ ธปท.อันมี ลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ธปท. โดยให้ใช้บังคับกับคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อด้วย