‘แพทองธาร’ เตรียมเปิดทำเนียบฯ รับเลขาฯ OECD ถกคืบหน้าไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก
เลขาธิการ OECD เตรียมพบแพทองธาร สัปดาห์หน้า หารือในประเด็นความคืบหน้าในการเข้า OECD หลังไทยได้รับไฟเขียวจาก 38 ประเทศสมาชิกภาคีเอกฉันท์รับไทยเข้าสู่ขั้นตอนการหารือกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก โดยไทยมีขั้นตอนต้องเดินตามโรดแมปที่ OECD กำหนดไว้เพื่อยกมาตรฐานทุกมิติ
ความคืบหน้าของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ “OECD” ที่ไทยได้มีการดำเนินการยื่นเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD และภาคีสมาชิกของ OECD ได้มีมติยอมรับให้ไทยเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นสมาชิกของ OECD ในอนาคต
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า ในสัปดาห์หน้า นายมาทีอัส คอร์มัน เลขาธิการ OECD จะเดินทางมายังประเทศไทย และมีกำหนดการเข้าหารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการพูดคุยกันถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD ของไทย รวมทั้งรับฟังคำแนะนำจากเลขาธิการ OECD ที่จะช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ได้
ทั้งนี้ประเทศไทยนั้นมีการตั้งเป้าหมายในการทำงานว่าจะเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ให้ได้ภายใน 5 ปีโดยจะต้องมีการเข้าร่วมโปรแกรมต่างๆ รวมทั้งมีการปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย และมาตรฐานต่างๆ ให้ทัดเทียมสากล ทั้งนี้การประเมินว่าไทยจะได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิก OECD นั้นไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจนได้ขึ้นกับการพิจารณาภายในของประเทศต่างๆ ที่เป็นภาคีสมาชิกในกลุ่มด้วย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิกาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในการผลักดันให้ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ครม.ได้มอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD นั้นได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อไทยได้ยื่นยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าเป็นสมาชิกต่อ OECD เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567 และเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2567
ที่ผ่านมาคณะมนตรีของ OECD ซึ่งประกอบด้วยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประเทศสมาชิก OECD ได้มีมติเห็นชอบให้เชิญประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการ การหารือเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD (accession discussions) เป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไทย และ OECD จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด OECD จัดทำแผนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Roadmap) ที่จะกำหนดเป้าหมาย เงื่อนไข และกรอบเวลาในการดำเนินการให้สอดคล้องกับตราสารของ OECD
ซึ่งมีคณะกรรมการ และการประชุมของ OECD ที่ไทยจะต้องเข้าร่วมอีกอย่างน้อยกว่า 26 ชุด และเมื่อไทยดำเนินการตามแผนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คณะมนตรี OECD ก็จะพิจารณาเชิญไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ตามขั้นตอนต่างๆ ของ OECD ต่อไป
ทั้งนี้การเข้าเป็นสมาชิกของ OECD จะทำให้สถานะของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศได้รับการยอมรับมากขึ้นในเรื่องของมาตรฐาน กฎระเบียบที่เป็นสากลซึ่งจะเอื้อให้เกิดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์