แบงก์ชาติ ส่งรายงานถึง ครม. หนุนคงอัตราเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 0.46% เหมาะสม
กระทรวงการคลัง นำรายงานที่แบงก์ชาติรายงานเรื่องแนวทางการพิจารณาเรื่องของการส่งเงินจากเงินจากสถาบันการเงินเข้าสู่การชำระหนี้กองทุน FIDF โดยให้คงที่อัตรา 0.46% เหมือนเดิมโดยไม่ควรปรับลดเพื่อให้ใช้หนี้หมดในปี 2574
KEY
POINTS
- ที่ผ่านมามีข้อเสนอในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและลดหนี้เสียด้วยปรับลดเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเพื่อ นำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เพื่อให้ธนาคารไปลดหนี้ให้ประชาชน
- ปัจจุบันมีการเก็บเงินจากสถาบันการเงิน 0.46% จากเงินฝากนำส่งเพื่อการใช้หนี้ FIDF และนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
- ธปท.ให้ความเห็นผ่านรายงานเรื่องแนวทางการพิจารณาเรื่องของการส่งเงินจากเงินจากสถาบันการเงิน 2567 เข้าสู่การชำระหนี้กองทุน FIDF โดยgให้คงที่อัตรา 0.46% เหมือนเดิมโดยไม่ควรปรับลดเพื่อให้ใช้หนี้ที่ค้างมาตั้งแต่การแก้วิกฤติ 40 หมดตามกำหนดในปี 2574
จากปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้เสียที่สูงขึ้นทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศซึ่งในภาพรวมมีหนี้เสียในส่วนนี้อยู่กว่า 1.2 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมามีข้อเสนอในการแก้ไขหนี้เสียในส่วนนี้โดยมีการให้ปรับลดเงินที่รัฐบาลเก็บจากสถาบันการเงินเพื่อ นำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และบางส่วนนำไปเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งในส่วนนี้มีการเก็บอยู่ที่ 0.46%
เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้เสนอว่าให้เก็บเหลือเพียงครึ่งหนึ่งและให้นำส่วนที่เก็บลดลงนั้นไปใช้แฮร์คัทหนี้เสียเพื่อช่วยลดหนี้เสียในระบบ เพื่อช่วยคนไทยที่กำลังจะถูกยึดกลับมาเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เสนอให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังนำไปศึกษาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
รวมทั้งภาระหนี้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2544 (FIDF1) และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะยะที่2พ.ศ.2545 (FIDF3) ยังคงอยู่ในระดับสูง
โดยมียอดคงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 620,532 ล้านบาท และเงินนำส่งจากสถาบันการเงินยังเป็นแหล่งเงินสำคัญในการลดต้นเงินและชำระดอกเบี้ย ดังนั้น การคงอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่ง 0.46% ต่อปี เช่นเดิมจะช่วยให้หนี้ที่เหลืออยู่ลดลงได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ คาดว่าการชำระหนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2574
ทั้งนี้กองทุน FID1 และกองทุน FIDF3 เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ “เครื่องมือในการแก้ปัญหาสถาบันการเงินล้ม” และในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปช่วยอุ้มสถาบันการเงินที่มีปัญหาตามนโยบายรัฐบาล จนทำให้มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีหนี้ที่เป็นภาระรัฐบาลต้องชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ สูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จัดตั้งขึ้นโดยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2548
เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือในทางการเงินเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและเสถียรภาพ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 พ.ย. 2528 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ว่า Financial Institutions Development Fund หรือใช้ตัวย่อว่า “FIDF”
วิกฤตการณ์การเงิน 2540 หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เริ่มต้น 2 ก.ค. 2540 เป็นวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) วิกฤตครั้งนั้น ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย มีปัญหาและภาระที่รุมเร้า เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง, ปัญหาหนี้ต่างประเทศ, การลงทุนเกินตัวและฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
ก่อนหน้าที่ จะออกพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ มีการแบ่งภาระการคืนหนี้ โดย ธปท.จ่ายคืนเงินต้น และกระทรวงการคลังจ่ายดอกเบี้ย แต่ ธปท.ประสบภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่องหลายปี และยังขาดทุนสะสม จึงไม่มีกำไรมาชำระคืนเงินต้น จากที่คาดว่าจะใช้เงินต้นหมดภายใน 20 ปี ปรากฏว่า 10 ปี นำส่งได้แค่ 1.3 แสนล้านบาท จากเงินต้น 1.3 ล้านล้านบาท กลายเป็นคลังที่ต้องรับภาระจ่ายดอกเบี้ยสะสมสูงถึง 600,000 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2555 รัฐบาลสมัย (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) อนุมัติให้ตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ เพื่อปรับปรุงและจัดการระบบการชำระหนี้เงินกู้เสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลอีกต่อไป และให้ ธปท.เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว ตลอดจนปรับปรุงการจัดหาแหล่งเงินในการนำไปชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงหลักเกณฑ์และแหล่งเงินในการชำระคืนต้นเงินกู้ที่กำหนดไว้แต่เดิม พร้อมกับเพิ่มเติมการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าวด้วย จึงเป็นที่มาของการเรียกเก็บเงินในสัดส่วน 0.46% เพื่อนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินนำไปใช้หนี้ในส่วนนี้
ธปท.ได้จัดทำรายงานประจำปี 2566 พบว่า หนี้คงเหลือปัจจุบันที่อยู่ในบัญชีของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ตามบัญชี FIDF 1 และ FIDF 3 ณ เดือน เม.ย.2567 เป็นวงเงิน 590,869 ล้านบาท จากยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 1.13 ล้านล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้
1.FIDF 1 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 463,275 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 265,327 ล้านบาท
2.FIDF 3 ยอดที่รับมาดำเนินการเมื่อเดือน ม.ค.2555 อยู่ที่ 675,030 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 325,542 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธปท.นำอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) จากธนาคารพาณิชย์อัตรา 0.46% ต่อปี มาเข้ากองทุนเพื่อชดเชยส่วนนี้แทนการตั้งงบประมาณใช้คืนที่ทำมานับสิบปี ปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันหนี้ส่วนนี้ยังนับเป็นหนี้สาธารณะ เพราะอยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะของรัฐบาลทำให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต้องบันทึกหนี้สาธารณะรายงานและคำนวณในหนี้สาธารณะของประเทศทุกปี
ทั้งนี้มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลกำลังวางแนวทางในการบริหารงานเกี่ยวกับ ธปท.เพื่อให้ส่งเสริมนโยบายการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น โดยหนี้สาธารณะบางส่วนที่อยู่ในบัญชีบริหารหนี้สาธารณะที่เกิดจากความเสียหายของสถาบันการเงิน ตั้งแต่วิกฤติการเงิน ปี 2540 โดยให้ ธปท.รับหนี้จำนวนนี้ไปอยู่ในบัญชีการบริหารหนี้ของ ธปท.เองทั้งหมด เพื่อให้หนี้ในส่วนนี้ไม่ต้องอยู่กับกองทุน FIDF ที่จะต้องมานับเป็นหนี้สาธารณะ จะช่วยให้บริหารงบประมาณและหนี้สาธารณะในส่วนของรัฐบาลได้คล่องตัวมากขึ้น