‘กกร.’ ฉายภาพเศรษฐกิจไทย ชี้ ‘หนี้ครัวเรือน’ ฉุดการเติบโตของประเทศ
"กกร." ฉายภาพประเทศไทย ชี้แรงส่งสำคัญการท่องเที่ยว-มาตรการรัฐ แต่เจอความท้าทาย ‘หนี้ครัวเรือน’ เหนี่ยวรั้งการเติบโต วอนขอกระตุ้นบริโภค “คูณสอง” คล้ายคนละครึ่ง และมาตรการลดหย่อนภาษี
วันนี้ (30 ต.ค.67) สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานประกาศรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2567 โดยภายในงานได้มีเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568” จาก 3 กูรูเศรษฐกิจ ได้แก่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย, นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 2.7-2.8% หลังจากประเทศไทยเจอปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนอยู่ในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาล และมาจากแรงกระตุ้นของมาตรการจากรัฐบาล เช่น การแจกเงิน 10,000 บาท และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นกลไกที่เริ่มต้นทำงาน แต่ปัญหาของไทยคือ หนี้ครัวเรือนที่มาเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไทย โดยต้องติดตามในช่วงก่อนสิ้นปี 2567 นี้ เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนออกมาเพิ่มเติม
“เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตการแก้หนี้ครัวเรือน เป็นมาตรการใหญ่ก่อนช่วงสิ้นปีนี้ แต่ไม่อยากให้เป็นการกระตุ้น อยากให้เป็นการกระตุก เป็นแรงผลักดันเป็นโมเมนตัมสู่ปีหน้าและปีต่อๆไป ซึ่งหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจนอกระบบ และเป็นปัญหาใหญ่ โดยในปี 2568 นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีเหนี่ยวรั้ง ซึ่งมองว่าตั้งแต่ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต้องแก้ปัญหาให้ครบจุด”
นายผยง กล่าวว่า หากมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบได้ จะทำให้ภาครัฐมองเห็นข้อมูลในระบบมากขึ้น เพื่อให้ภาครัฐสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ตรงจุด เช่น ช่วยเหลือทั้งด้านสวัสดิการ ทักษะ ค่าแรงขั้นต่ำ โดยเชื่อว่าหากมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน จะทำให้มีข้อมูลและเข้าสู่ระบบ ไม่ใช่แค่เรื่องการเสียภาษีเท่านั้น แต่จะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะปัญหาแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน และทำให้เกิดโอกาสของคนตัวเล็ก โอกาสให้คนเข้าทำมาหากิน ซึ่งหากแก้หนี้ครัวเรือน หรือแก้หนี้ธุรกิจรายเล็ก จะสร้างโอกาสอย่างมีคุณภาพ เหมาะสม และยั่งยืน เน้นเรื่องทักษะ แต่เราจะฉกฉวยโอกาสเหล่านั้นได้อย่างไร
“เราฝืนกระแสโลกไม่ได้ ทุกประเทศแข่งขันหมด เราต้องแข่งขัน เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์มาลงทุน แต่คำถามคือจ้างแรงงานกี่คน เป็นพื้นฐานพลังงานสะอาดอย่างไร โดยเน้นย้ำว่าปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดจากความไม่สามารถเติบโต และติดกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงโครงสร้างระบบการเงินประเทศไม่ว่าจะธนาคาร นอนแบงก์ สหกรณ์ฯ ไปสู่นอกระบบ ทั้งหมดมีจำนวนเท่าไร แต่ทำไมทรัพยากร หรือการลงทุนไปต่างประเทศมาก ซึ่งจะทำอย่างไรจะดึงการลงทุนกลับเข้ามาในไทยยังต้องเป็นโจทย์ให้คิด”
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 2.7% ตามที่ กกร.คาดการณ์ ซึ่งการส่งออกไทยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเติบโต 3.9% โดยต้องติดตามการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีว่าจะเป็นอย่างไร ท่ามกลางความกังวลของหนี้ครัวเรือนที่จะมาเหนี่ยวรั้ง แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะดีขึ้นจากเกือบ 91% มาเป็น 89.6% แต่หากดูข้างในหนี้ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมและเกิดจากการลดวงเงินปล่อยกู้ ทำให้หนี้ครัวเรือนดีขึ้น
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมได้กังวลเศรษฐกิจไทยหลังจากดัชนีภาคการผลิตลดลงมาติดต่อกัน 6 ไตรมาส ล่าสุดเดือน ก.ย.2567 ที่ผ่านมาติดลบ 1-2% และถูกกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก เช่น สินค้าจากจีน ตัวเลขนำเข้าสูงขึ้น ช่วงที่ผ่านมาเพิ่มเกือบ 20% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจไทยจะได้แรงสนับสนุนจากกาคท่องเที่ยว คาดจะมี 36-37 ล้านคนในปี 2567 สร้างรายได้ 1.7-1.8 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าในปี 2568 ท่องเที่ยวไทยจะมีแรงสนับสนุนเพิ่มจากนโยบายรัฐบาลเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ และมาตรการต่างๆของรัฐ มีโอกาสทำให้แตะ 40 ล้านคนเท่ากับก่อนโควิดได้
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมอยากให้ภาครัฐมีมาตรการป้องกันสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้ทะลักเข้ามาในประเทศไทย จนกระทบถึงภาคการผลิต และปัญหาอื่นคือเรื่องสังคมสูงวัย ที่กระทบต่อแรงงาน ทำให้ต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ในขณะที่ไทยต้องเจอคู่แข่งด้านแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งต้องจับตาเลือกตั้งสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย. เป็นตัวสำคัญจะทำให้รู้ว่าทิศทางส่งออกของไทยเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมานาน ซึ่ง 40-50 ปีที่ผ่านมาความสามารถแข่งขันลดลง และช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของจีดีพีไทยอยู่ที่ 1.92% ไม่ถึง 2% แต่ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านจีดีพีเติบโต 5-7% โดยแนวทางแก้ไขคือ ต้องปรับโครงสร้างการผลิต และอุตสาหกรรมทั้งหมด รวมทั้งในเรื่องของนวัตกรรมให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในเรื่องพลังงานสะอาด BCG อุตสาหกรรมสีเขียว Climate change และ Net Zero
ขณะที่ปัญหาใหญ่ของไทยคือเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาคนชั้นล่างเป็นคนส่วนใหญ่ ไม่เหมือนกับช่วงวิกฤติปี 2540 ซึ่งแนวทางคือต้องทำให้คนมีรายได้เพิ่ม จะทำให้หนี้ลดลง โดยในปี 2568 มองว่าจะเกิดการแข่งขันรุนแรงในโลก และยอมรับว่าสิ่งที่สินค้าไทยผลิตได้ จีนก็ผลิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปแข่งขัน จะแข่งขันยาก ต้องมองจีนไม่ใช่คู่แข่ง แต่ต้องมองเป็นคู่ค้า
“ไทยเป็นประเทศพึ่งพาส่งออก แต่รายได้ไม่ได้มาก อาจเพียง 5% ของการส่งออกทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุน เป็นฐานการผลิตและส่งออกไป และต้องจับตาปัจจัยภายนอกต้องดูเลือกตั้งสหรัฐในปี 2568 ใกล้ชิด ซึ่งอาจเกิดกติกาใหม่ เราต้องเข้าใจ สหรัฐฯ และจีน เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยมาโดยตอด และไทยต้องปรับปรุงการศึกษา เน้นสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูง รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบมากมายที่เป็นต้นทุนแฝง เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นทั้งคนไทยและต่างชาติด้วย”
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าน่าจะไม่ถึง 3% คาดอยู่ที่ 2.6-2.7% จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยประเมินว่าในไตรมาส 4 ของปี 2567 ทุกอย่างจะมีความเชื่อมั่นกลับมา และมีกิจกรรมต่าง ๆ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเยียวยา เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี ขณะที่ช่วงที่เหลือ 2 เดือนหลังจากนี้มองว่าเศรษฐกิจได้รับแรงขับเคลื่อนจากการแจกเงิน 10,000 บาท
ทั้งนี้ กกร.เห็นว่าควรจะผลักดันต่อ โดยเสนอรัฐบาลควรมีคูณสอง คล้ายกับคนละครึ่ง จากนั้นเป็นมาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt กระตุ้นการจับจ่ายของคนมีรายได้ในช่วงปลายปีนี้ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ส่งเสริมที่ดี และกระตุ้นการบริโภคประชาชน รวมทั้งเสนอรัฐบาลช่วยกลุ่มเปราะบาง คนเดือดร้อน โดยเฉพาะหากคนใช้รถกระบะทำมาหากิน แต่ถูกยึดรถไป ทำให้กลุ่มนี้เดือดร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
สำหรับในปี 2568 สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องทำให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมรัฐบาลและธุรกิจให้ก้าวต่อไปข้างหน้า โดยต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พ.ย.นี้ มองว่าประเทศไทยต้องเป็นมิตร ไทยต้องวางตัวเป็นกลางและมีเสน่ห์หลายเรื่อง โดยเฉพาะการเข้าเป็นสมาชิกทั้ง OECD และ Brics รวมทั้งต้องแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัยล้าหลัง เพื่อกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
“ไทยจะต้องสร้างคนให้มีความพร้อมและเตรียมพร้อมเรื่องเทคโลยี รวมทั้งต้นทุนราคาไฟฟ้าที่ต้องสามารถแข่งขันกันได้ เช่น ค่าไฟเวียดนาม 2-3 บาทต่อหน่วย แต่ค่าไฟของไทยกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุนในไทย ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ข้อได้เปรียบของไทยคือการมี Wellness โดยในปี 2568 ยังมีหลายเรื่องที่ต้องทำร่วมกัน และหากรัฐบาลมีเสถียรภาพ ในส่วนเงินเฟ้อแตะ 2% มีมาตรการที่ไม่ใช่แค่เยียวยา เชื่อว่าจะทำให้รายได้ประชาชนสูงขึ้น จีดีพีไม่ต่ำกว่า 3.5% หรืออาจ 4% ในปี 2568 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าพอใจ”