เปิดเหตุผล น้ำมันตลาดโลกลง แต่ กองทุนน้ำมันฯ ไม่ลด 'ดีเซล'
เปิดเหตุผล ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง แต่ทำไม สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ จึงไม่ลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไทย
KEY
POINTS
- ราคาน้ำมันคลาดโลกแม้จะมีความผันผวนแต่ก็ไม่ได้ปรับขึ้นสูงมากนัก ส่วนหนึ่งคลายกังวลจากสงครามตะวันออกกลางที่ไม่ได้บานปลายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล โดยราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ที่ 81.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
- ถึงแม้เฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยังคงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดลง
- ต้องจับตาอย่างต่อเนื่องหากราคาน้ำมันดิบดีเซลยังอยู่ในอัตราสูงต่อเนื่อง อาจจะกระทบกับราคาขายปลีกในประเทศ และต้องมีการขยับเพดานกำหนดราคาขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร
- แม้ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกจะไม่พุ่งสูงมาก แต่กองทุนน้ำมันฯ ไม่สามารถลดราคาขายปลีกดีเซลต่ำกว่า 33 บาทต่อลิตร เพราะยังต้องจ่ายหนี้เงินกู้อีกกว่า 1 แสนล้านบาท
ราคาน้ำมันคลาดโลกแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ปรับขึ้นสูงมากนัก ส่วนหนึ่งคลายกังวลจากสงครามตะวันออกกลางที่ไม่ได้บานปลายอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในรอบปีที่ผ่านมาเฉลี่ยราคาโดยรวมลดลงจากปีงบประมาณก่อนหน้านี้ โดยราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ อยู่ที่ 81.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนหน้าซึ่งอยู่ 83.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 102.01 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้าอยู่ที่ 112.90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันเบนซินเฉลี่ย 95.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนหน้า 99.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ถึงแม้เฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูงเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสาเหตุมาจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ส่วนสถานการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับลงยังคงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันลดลง
ซึ่งต้องจับตาอย่างต่อเนื่องหากราคาน้ำมันดิบดีเซลยังอยู่ในอัตราสูงต่อเนื่อง อาจจะกระทบกับราคาขายปลีกในประเทศ และต้องมีการขยับเพดานกำหนดราคาขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร" นายพรชัย กล่าว
ทั้งนี้ ด้านการรักษาระดับเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการดำเนินการตามแผนวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ราคาขายปลีก
ปรับลดลงซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซลที่ 33 บาทในวันที่ 31 ต.ค. 2567 นี้
และคาดว่าในช่วง 2 เดือนข้างหน้าราคาน้ำมันจะผันผวนและอยู่ในขาขึ้น สกนช. จะยังใช้กลไกกองทุนฯ เข้ามาบริหารจัดการและดูแลสถานการณ์อย่สงต่อเนื่อง โดยต่อไปคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะเป็นผู้ดูแลราคาดีเซลในประเทศว่าความเหมาะสมจะอยู่ที่เท่าไหร่
โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงของโลกและปัจจัยที่จะเข้ามาสนับสนุน ในระยะต่อไปโดยในส่วนก๊าซ LPG ก็ถูกตรึงราคาตลอดปีตั้งแต่เดือนต.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. และคาดว่าจะตรึงต่อไปจนถึงช่วงต้นปีหน้า เพื่อช่วยดูแลภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
อย่างไรก็ตามในด้านสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดีขึ้นในเดือนส.ค. 2567 โดยปัจจุบันมีรายรับจากน้ำมันไหลเข้ากองทุน 229 ล้านบาทต่อวัน รวมเป็น 7,108 ล้านบาทต่อเดือน และไหลเข้าจาก LPG 2.02 ล้านบาทต่อวัน รวมเป็นมีเงินไหลเข้ากองทุนรวมอยู่ที่ 7,170 ล้านบาทต่อเดือน
ส่งผลให้กองทุนมีสถานะที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2567 ที่เคยติดลบ 111,663 ล้านบาท เหลือเป็น ล่าสุด ณ วันที่ 27 ต.ค. 2567 กองทุนฯ ติดลบรวม 92,041 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 44,564 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบรวม 47,447 ล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่า แม้ว่ากองทุนน้ำมันฯ จะสามารถเก็บเงินเข้าบัญชีได้ แต่ก็ไม่สามารถลดราคาดีเซลลงได้ต่ำกว่า 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากต้องเริ่มจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ และจ่ายหนี้เงินต้นที่กู้ยืมมากว่า 1 แสนล้านบาท ทำให้หากจะลดราคาดีเซลลงอีก กองทุนน้ำมันฯ จะยิ่งแบกภาระหนี้สินมากขึ้นตามไปด้วย สุดท้ายก็จะไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ตามกรอบเป้าหมาย กระทบต่อกระทรวงการคลังเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจที่สำคัญดังนี้
1. การชำระหนี้เงินกู้ยืมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน รวมกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มชำระเงินต้นในเดือนพ.ย. 2567 ประมาณ 139 ล้านบาท และเพิ่มการผ่อนชำระหนี้เงินต้นขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือนตามวงเงินกู้ยืม ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอีกประมาณ 250 – 300 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะชำระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นในเดือนก.ย. 2571 และ
2. การติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องเรียกเก็บเงินไว้ในช่วงที่ยังมีภาระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน