เปิดแผนสร้าง 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ผ่านพื้นที่มรดก 'เกาะรัตนโกสินทร์'

เปิดแผนสร้าง 'รถไฟฟ้าสายสีส้ม' ผ่านพื้นที่มรดก 'เกาะรัตนโกสินทร์'

รฟม.กางแผนสร้าง 5 สถานีแรก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เตรียมกันพื้นที่ปิดช่องจราจรเริ่ม 15 พ.ย.นี้ เปิดแนวเส้นทางผ่านพื้นที่มรดก “เกาะรัตนโกสินทร์” ด้าน BEM ย้ำไม่กระทบโบราณสถานและโบราณวัตถุ หารือร่วมคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เล็งพัฒนาสถานีท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

KEY

POINTS

  • รฟม.กางแผนสร้าง 5 สถานีแรก "รถไฟฟ้าสายสีส้ม" ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ เตรียมกันพื้นที่ปิดช่องจราจรเริ่ม 15 พ.ย.นี้
  • BEM เตรียมนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ก่อสร้างต้นปีหน้า พร้อมเร่งรัดงานโยธาส่วนตะวันตก แล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573 
  • เปิดแนวเส้นทางผ่านพื้นที่มรดก "เกาะรัตนโกสินทร์" ย้ำไม่กระทบโบราณสถานและโบราณวัตถุ หารือร่วมคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เล็งพัฒนาสถานีรถไฟฟ้า แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแนวเส้นทางก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 12 สถานี ซึ่งจะเริ่มต้นสถานีบางขุนนนท์ เป็นอุโมงค์ใต้ดินวิ่งไปตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสถานีศิริราช

จากนั้นจึงวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้พื้นที่ถนนราชดำเนิน ไปยังสถานีสนามหลวง และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังจากนั้นเบี่ยงแนวเส้นทางไปตามแนวถนนหลานหลวง โดยจะมีสถานีหลานหลวง และสถานียมราช

หลังจากนั้นจะเลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรีจนถึงสี่แยกประตูน้ำ โดยจะมีการก่อสร้างสถานีราชเทวี และสถานีประตูน้ำ ก่อนเลี้ยวซ้ายลอดใต้ถนนราชปรารภ ไปยังสถานีราชปรารภ ตรงไปถึงสามเหลี่ยมดินแดง แล้วจึงเลี้ยวขวาไปตามถนนดินแดง บริเวณนั้นจะมีสถานีดินแดง

ก่อนจะเลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต แล้วเลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 และเบี่ยงขวาลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ เป็นสถานีประชาสงเคราะห์ และเชื่อมต่อไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสถานีนี้จะสามารถเดินทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปยังรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน

เปิดแผนสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ผ่านพื้นที่มรดก \'เกาะรัตนโกสินทร์\'

“กิตติกร ตันเปาว์” รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม.เผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ขณะนี้ทางเอกชนผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เริ่มดำเนินงานเข้าไปสำรวจสาธารณูปโภคแล้ว โดยภาพรวมมีความก้าวหน้า ณ สิ้นเดือน ต.ค. 2567 อยู่ที่ 1.90%

อย่างไรก็ดี BEM จะเริ่มงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคในวันที่ 15 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งทราบว่าตามแผนจะทยอยดำเนินการ 5 สถานีแรก ประกอบด้วย สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ โดยจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจราจรชิดทางเท้า 1 ช่องจราจร ยกเว้นสถานีศิริราชจะเป็นการจัดการจราจรในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อช่องจราจร สำหรับสถานีส่วนที่เหลือจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้

เปิดแผนสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ผ่านพื้นที่มรดก \'เกาะรัตนโกสินทร์\'

“ทรงวุฒิ ศิริอุดมเลิศ” ผู้แทนจาก BEM กล่าวว่า การก่อสร้างงานโยธา หลังจากสำรวจและรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ คาดว่าในช่วงต้นปี 2568 จะสามารถนำเครื่องจักรเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มเตรียมก่อสร้างโครงการได้ โดยจะทยอยก่อสร้างส่วนของ 5 สถานีแรก ซึ่งงานโยธาส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ กำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาภายใน 6 ปี โดย BEM คาดว่าจะเร่งรัดงานดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด เพื่อเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573

“พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ในเขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ ทาง BEM ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ และกรมศิลปากร เพื่อประเมินแบบก่อสร้าง และกรณีการขุดเจาะพบโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งยืนยันได้ว่าการทำงานในพื้นที่เหล่านี้ จะไม่กระทบต่อโบราณสถาน และโบราณวัตถุ อีกทั้ง BEM ยังมีแผนพัฒนาจัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบไว้ในสถานีรถไฟฟ้า รวมไปถึงออกแบบสถานีให้สอดคล้องกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์”

เปิดแผนสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ผ่านพื้นที่มรดก \'เกาะรัตนโกสินทร์\'

สำหรับพื้นที่ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ที่ BEM ทำงานหารือร่วมกับคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ จะครอบคลุม 4 สถานีหลัก ประกอบด้วย สถานีศิริราช สถานีสนามหลวง สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสถานีหลานหลวง โดยการออกแบบก่อสร้าง BEM จะเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา พร้อมทั้งหารือถึงความเป็นไปได้ของแนวเส้นทางที่จะผ่านบริเวณพื้นที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะมีโบราณวัตถุและต้องใช้ความระมัดระวังในการขุดเจาะ

ทั้งนี้ BEM คาดว่าคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์จะพิจารณาเห็นชอบแบบก่อสร้างของรถไฟฟ้าสายสีส้มทันต่อเป้าหมายก่อสร้างในต้นปี 2568 โดยหลังจากผ่านการเห็นชอบแล้ว BEM จะว่าจ้างนักโบราณคดีเข้ามาร่วมรื้อย้ายโบราณสถานและโบราณวัตถุ รวมทั้ง BEM จะออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าเหล่านี้ร่วมกับคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สถานีรถไฟฟ้าสอดคล้องกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ พร้อมนำโบราณวัตถุต่างๆ มาจัดแสดงเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เปิดแผนสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ผ่านพื้นที่มรดก \'เกาะรัตนโกสินทร์\'

เปิดแผนสร้าง \'รถไฟฟ้าสายสีส้ม\' ผ่านพื้นที่มรดก \'เกาะรัตนโกสินทร์\'