ทางแยก“อุตฯยานยนต์”บริหารนโยบายในสถานการณ์ตลาดตกต่ำ
ภาคขนส่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงลำดับต้นๆ ดังนั้นหากเปลี่ยนการใช้รถยนต์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดให้ได้ก็จะทำให้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกดีขึ้น
ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานด้วยขุมพลังจากแบตเตอรี่ ที่พบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนน
ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปพลังงานฟอสซิลก็เป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
ในการหารือกับระหว่าง เอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับ เรเน่ แกฮาร์ด ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีเอ็มดับเบิ้ลยู กรุ๊ป ประเทศไทย สองฝ่ายได้หารือด้านสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่มีการชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเกิดความกังวล
“เอกชนจึงอยากเสนอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมปรับเงื่อนไขการผลิตตามประกาศกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญในเขตประกอบการเสรี (Free zone)ให้ลดปริมาณการผลิตขั้นต่ำลงซึ่งทางกระทรวงฯ”
โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะนำประเด็นในวันนี้ไปหารือไปกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปด้วยกัน
ด้านซากรี ซาร์ดีน หัวหน้าการตลาดและการขายต่างประเทศ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ มาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะหารือก็ได้เข้าหารือเพื่อรับฟังนโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของกระทรวงอุตสาหกรรม
“หารือข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขการผลิตตามประกาศกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญในเขตประกอบการเสรี (Freezone) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)เนื่องจากในปัจจุบันสถานการณ์ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยลดลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตรถยนต์หรู (Premium Brand) ที่เป็นตลาดเฉพาะ”
ทางกระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบสถานการณ์ และข้อกังวลของทางบริษัทฯ และจะเร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและคำนึงถึงผลกระทบ แผนการลงทุน และแนวทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่อได้
ด้านค่ายรถฝั่งญี่ปุ่นโดยโทชิฮิโระ ฟูจิกิ ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเซีย แปซิฟิค จำกัด และประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะเข้าพบ โดยบริษัทฯ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการดำเนินงานในประเทศไทย ซึ่งบริษัท ฯ ได้มีการก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ภายในประเทศ ณ จังหวัดสมุทรปราการ (บางนา - ตราด กม. 21) เพื่อผลิตรถยนต์ประหยังพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) จำนวน 4 รุ่น ได้แก่ Almera Kick Navara และ Terra โดยมีกำลังการผลิตรวม 240,000 คัน/ปี
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 10,960 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมรุ่น e-Power ซึ่งเดิมมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียวที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะรักษาฐานการผลิตในประเทศไทย โดยพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับทิศทางของนโยบายภาครัฐ และขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรวมทั้งรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทั้งสองประเด็นจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างสมดุลเพื่อให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้
“กระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะรับฟังข้อจำกัดและอุปสรรคจากการประกอบการ เพื่อนำมาหารือร่วมกันและกำหนดแนวทางในการแก้ไขอย่างยั่งยืน ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคตที่สำคัญต่อไป”