'สุริยะ' เปิดโมเดลค่าธรรมเนียมรถติด แผนจัดการตัวอย่างใน 4 ประเทศ

'สุริยะ' เปิดโมเดลค่าธรรมเนียมรถติด แผนจัดการตัวอย่างใน 4 ประเทศ

“สุริยะ” เปิดโมเดลจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เผยอยู่ระหว่างศึกษาเปรียบเทียบความสำเร็จจาก 4 ประเทศ อังกฤษ สิงคโปร์ สวีเดน และอิตาลี ยันไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน เตรียมยกเว้นการจัดเก็บผู้อาศัยในพื้นที่ คาดภายในกลางปี 2568 เคาะรายละเอียดทั้งหมด

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว คาดว่า 6 เดือนนับจากนี้จะได้ข้อสรุป

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะจะสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะ PM2.5 และยังสามารถนำเงินค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บมาเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อไปซื้อคืนรถไฟฟ้า เพื่อปรับราคาค่าโดยสารลงให้เหลือสูงสุด 20 บาท

“การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด จากประสบการณ์ในหลายประเทศจะเห็นได้ว่าช่วงแรกประชาชนไม่เห็นด้วย แต่ในส่วนของไทยหลังประกาศนโยบายออกไปประชาชนส่วนใหญ่กว่า 60% เห็นด้วย หลังจากนั้นเริ่มพบว่าประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น รวมไปถึงคนที่ทำงานในบริเวณนั้น และจำเป็นต้องเดินทาง”

\'สุริยะ\' เปิดโมเดลค่าธรรมเนียมรถติด แผนจัดการตัวอย่างใน 4 ประเทศ

หวังประชาชนเข้าใจยังไม่เพิ่มค่าครองชีพ

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ การทำความเข้าใจกับประชาชนว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่นโยบายนี้จะเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตประจำวันสะดวกมากขึ้น โดยเบื้องต้นตนยืนยันว่านโยบายนี้จะไม่จัดเก็บค่าธรรมเนียมกับประชาชนที่มีที่พักอาศัยอยู่ในเขตเมืองของการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่วนรายละเอียดของกลุ่มที่ต้องถูกจัดเก็บค่าธรรมเนียมนั้น คงต้องรอให้ สนข.ศึกษาข้อมูลแล้วเสร็จก่อน

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากการรายงานของ สนข. ถึงผลการศึกษาเบื้องต้น ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2562-2565 สนข. ได้ความร่วมมือจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ในการดำเนินการศึกษา และพิจารณารายละเอียดของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ขณะนี้ สนข.ได้ทบทวนผลการศึกษา เพื่อสนับสนุนนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

\'สุริยะ\' เปิดโมเดลค่าธรรมเนียมรถติด แผนจัดการตัวอย่างใน 4 ประเทศ

เปิด 4 โมเดลเมืองใหญ่บทเรียนเก็บค่ารถติด

เบื้องต้นได้ศึกษาถึงมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว โดยเปรียบเทียบจากโมเดล 4 ประเทศ ประกอบด้วย 1.ลอนดอน ประเทศอังกฤษ 2.ประเทศสิงคโปร์ 3.สต็อกโฮล์ม และโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน และ 4.มิลาน ประเทศอิตาลี

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ในการศึกษาของ สนข. นั้น ยังได้นำรูปแบบการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดใน 4 ประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับประเทศไทยให้มีความเหมาะสม ซึ่งจะพบว่าโมเดลต่างประเทศ จะมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการกำหนดช่วงเวลาจัดเก็บ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่วงเวลาที่การจราจรติดขัด

โดยเฉพาะโมเดลที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร พบว่าเมื่อมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแล้ว ผลลัพธ์บนถนนที่ลอนดอนมีการจราจรติดขัดลดลง 16% และมีปริมาณผู้โดยสารขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น 18% ขณะที่รูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ใช้ระบบการทำงานผ่านกล้องตรวจจับการรับรู้ป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ และยังมีวิธีการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน และออนไลน์ Internet Banking ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวก นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ตอบโจทย์การนำมาใช้จริง

คาดใช้มาตรการแล้วประชาชนเห็นด้วย

อย่างไรก็ดี หลายโมเดลในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าก่อนเริ่มใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด มีประชาชนไม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ภายหลังจากเริ่มแล้วกลับมาให้การยอมรับ และเห็นด้วยอย่างมาก เช่น สต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก่อนเริ่มมาตรการ ประชาชนในพื้นที่ ให้การยอมรับ 21% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 67% ขณะที่ลอนดอน ก่อนเริ่มมาตรการฯ ประชาชนในพื้นที่ ให้การยอมรับ 39% และภายหลังเริ่มมาตรการให้การยอมรับเพิ่มเป็น 54%

ทั้งนี้ ล่าสุดในปี 2567 สนข. อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนในการศึกษาค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ในโครงการของ UK PACT โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายเพื่อใช้กำหนดรูปแบบ และวิธีการ ตลอดจนค่าธรรมเนียม ในการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาในเขตพื้นที่ ที่มีการติดขัดของการจราจรสูง

โดยจะต้องศึกษามาตรการ ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในพื้นที่ที่มีการพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า และรถขนส่งสาธารณะอย่างครอบคลุม และมีความสะดวกในการใช้งานแล้ว โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ การศึกษาคาดเห็นความชัดเจนในปี 2568 ซึ่งจากข้อมูลผลลัพธ์ และแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของโมเดลลอนดอน ก็คาดว่าไทยจะใช้โมเดลนี้ในการนำมาประยุกต์ดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์