แผนบริหาร“น้ำปี 68”กรมชลประทาน จัดสรรเกษตร-อุตฯ-บริโภคเพียงพอ
ปี 2567 หลายพื้่นที่ของประเทศไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วม ฉับพลัน รุนแรง ทั้งปีต้นปีเดียวกันนี้หลายพื้นที่โดยเฉพาะแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เผชิญภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 5 พ.ย. 2567 ว่า ได้อนุมัติงบกลางฟื้นฟูเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอวงเงิน 2,553 ล้านบาท จำนวน 8 โครงการ ทั้งการฟื้นฟูอาชีพการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร และซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร รวมถึงลดหนี้สินสมาชิกสถาบันเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร
สืบเนื่องจากมติศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2567 เห็นชอบในหลักการ กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 3,286.6016 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับข้อสังเกตจากที่ประชุม ศปช. ที่ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาการใช้งบประมาณเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก ฟื้นฟูเกษตรกรรมที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด และระยะต่อไปในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ และนำเสนอเข้า ครม.
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 โดยพิจารณาพื้นที่เป้าหมายจากข้อมูลพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 8 โครงการ วงเงินงบประมาณ 2,553.0098 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้หรือลดรายจ่ายในครัวเรือนให้แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ให้สามารถทำการผลิตได้ทันทีหลังน้ำลด เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย ให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้และผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะเวลาอันสั้น
การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด ประกอบด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย (กรมการข้าว),โครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 (กรมวิชาการเกษตร),โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบอุทกภัย (กรมหม่อนไหม),โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 (กรมปศุสัตว์), โครงการส่งเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก (กรมประมง)
การฟื้นฟูพื้นที่เกษตรและซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร ประกอบด้วยโครงการปรับระดับพื้นที่เกษตรและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยระยะหลังน้ำลด ปี 2567 (กรมพัฒนาที่ดิน),โครงการการซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (กรมวิชาการเกษตร)
การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร (กรมส่งเสริมสหกรณ์) 3 ส่วนได้แก่ 1.การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแทนสมาชิก ต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ส่วนต้นเงินกู้ที่เกินกว่า 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ
2.การขยายระยะเวลาการชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ด้านการเกษตร โดยความสมัครใจและ3. ชดเชยความเสียหายของทรัพย์สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ขณะที่สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน กรมชลประทานระบุว่า ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำหรับเป็นข้อมูลการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องในแต่ละพื้นที่ พบว่าปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 35,633 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 15,060 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)
ด้านภาพรวมสถานการณ์น้ำทางตอนบน มีแนวโน้มเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,394 ลบ.ม./วินาที ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1,051 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน ได้พิจารณาทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และใช้ระบบชลประทานเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง แบ่งรับน้ำตามศักยภาพ ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ เร่งการระบายน้ำจากทางตอนบนลงสู่ตอนล่างทำได้เร็วยิ่งขึ้น
สำหรับลุ่มน้ำชี-มูล กรมชลประทาน ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย ได้แก่ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ และเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้
ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ที่เข้าสู่ฤดูฝน ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการ รับมือฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เจ้าหน้าที่ ประจำสุดเสี่ยง ให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้อย่างทันที รวมทั้งหมั่นตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ
ปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567 – 30 เม.ย. 2568 จากปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย.2567 โดยมีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศจำนวน 29,170 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 16,555 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 3,050 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 8,765 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนปี 2568 อีก 15,080 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่คาดการณ์ปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศรวม 10.01 ล้านไร่
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง 9,000 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 6,410 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,305 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะปฏิบัติตาม 8 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และขอประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วน ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ปี 2568 คืออนาคตซึ่งมีความไม่แน่นอนรออยู่ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม แต่เป้าหมายหลักของการทำงานคือการมีน้ำใช้เพียงพอกับความต้องการ ขณะเดียวกันหากมีปริมาณน้ำมากเกินไปก็ต้องพร้อมจัดการได้ทันที