กนอ. มุ่ง Green Transition! บุกญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนความรู้ สู่เศรษฐกิจสีเขียว

กนอ. มุ่ง Green Transition! บุกญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนความรู้ สู่เศรษฐกิจสีเขียว

“กนอ.”ย้ำความมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน นำทีมบินลัดฟ้าศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ใน 4 องค์กรชั้นนำ เพื่อหารือความร่วมมือและศึกษาแนวทางการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียวรูปแบบใหม่

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5-8 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กนอ. ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ Green Transition เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนกับ 4 องค์กรชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น

โดยไฮไลท์ของการศึกษาดูงานในครั้งนี้  เริ่มที่ IHI Corporation เมืองโยโกฮาม่า ที่เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด เพื่อศึกษาเทคโนโลยี เช่น Gas turbine ที่ใช้เชื้อเพลิงแอมโมเนีย 100% ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์จาก CO2 (CCU) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากสารละลายกลุ่ม Amine เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ Methanation เพื่อผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม

ถัดมาได้ไปที่ JFE Urban Recycle Corporation บริษัทชั้นนำด้านการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่ได้เรียนรู้และสอบถามข้อมูลของกระบวนการ ตั้งการถอดแยกชิ้นส่วน การลดขนาด การแยกประเภทวัสดุ การแปรรูปการจัดการสารอันตราย ที่น่าสนใจคือ บริษัทฯ นี้ดำเนินการตามหลักการ "Polluter Pay Principle" ที่ให้เจ้าของขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และการจัดการ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ NEC Corporation เช่น การเดินสายเส้นไฟเบอร์ในพื้นที่ใต้น้ำทั่วโลก การพัฒนาระบบเซ็นเซอร์เพื่อประยุกต์ใช้ในงานขนส่ง เช่น พยากรณ์การจราจร การติดตามรถ การตรวจระบบไบโอเมตริกซ์เพื่อระบุตัวตนบุคคล พร้อมศึกษาแนวทางการพัฒนา NEC’s GX Solutions เพื่อส่งเสริมการลดผลกระทบ (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ของอุตสาหกรรมและเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope 1,2,3 และพัฒนาโมเดลวิเคราะห์ความสูญเสียจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศ (Adaptation Finance) ภายในพื้นที่วิจัย NEC Future Creation Hub

และสุดท้ายได้ไปศึกษาการดำเนินงานของโรงงานรีไซเคิลดินของ S.P.E.C. (Tokyo Super Eco Town) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรีไซเคิลดินในพื้นที่กรุงโตเกียว เริ่มตั้งแต่การเข้าสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง ตรวจสอบการปนเปื้อนของดิน ขุดดินและนำไปรีไซเคิลตามขั้นตอนต่างๆเช่น การผสมปูนขาวเพื่อทำให้ดินแห้ง การร่อนแยกขยะ การทำความสะอาดล้างดิน  ดินที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วจะถูกนำไปขายหรือนำไปถมพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่เหมือง เพื่อปลูกป่า หรือพื้นที่สำหรับสร้าง Solar Farmโดยมีอัตราค่าบริการ 30,000 เยนต่อตัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของดินผสม และบริษัทฯมีกำลังการผลิตรีไซเคิลดิน 1,500 ตันต่อวัน หรือ 30 ล้านตันต่อปี

“การศึกษาดูงานของ กนอ.ครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของบริษัท IHI และ NEC corporation ตามเป้าหมาย Net Zero ส่วนธุรกิจรีไซเคิลดินของบริษัท S.P.E.C. ก็จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานตามแนวทาง Circular Economy ซึ่งทั้งหมดนี้ ถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่ กนอ. สามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนา และยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทย สู่ Green Transition อย่างยั่งยืน และยกระดับนิคมอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมรองรับการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต” รักษาการผู้ว่าการ กนอ. กล่าว