’ทรัมป์’ เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 'สภาพัฒน์' จับตาผลกระทบ ‘นโยบายร้อน‘

’ทรัมป์’ เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 'สภาพัฒน์' จับตาผลกระทบ ‘นโยบายร้อน‘

‘สภาพัฒน์’ ชี้นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย กระทบส่งออก คาดจีดีพีไทยปีหน้าโต 2.8% แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้า เพิ่มลงทุน ภาคธุรกิจประกันความเสี่ยงค่าเงิน เผยเศรษฐกิจไตรมาส 3 ขยายตัว 3% คงเป้าปีนี้ 2.6% 'ทักษิณ' แนะรัฐบาลหนุนธุรกิจไทยลงทุนสหรัฐฯ

KEY

POINTS

  • ‘สภาพัฒน์’ ชี้นโยบายทรัมป์เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย กระทบส่งออก คาดจีดีพีไทยปีหน้าโต 2.8% จากการค้าโลกที่หดตัว
  • แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพุ่งเป้า เพิ่มการลงทุนและใช้งบประมาณให้ได้ตามเป้า
  • ส่วนภาคธุรกิจต้องประกันความเสี่ยงค่าเงินจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ผันผวนมากขึ้น
  •  ด้านอดีตนายกฯ 'ทักษิณ' แนะรัฐบาลหนุนธุรกิจไทยลงทุนสหรัฐฯ ลดความขัดแย้งจากการเกินดุลงานค้า 

การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัย 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพลับรีกัน ทำให้หลายฝ่ายเตรียมรับมือความผันผวนและไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐ ซึ่งในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกกำหนดนโยบายสะเทือนเศรษฐกิจโลก และทำให้หลายประเทศต้องเตรียมรับมือเพื่อให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด

นายดนุชา พิชยนันนท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ต้องจับตากระทบเศรษฐกิจโลกใกล้ชิด โดยหากเทียบช่วงเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 1 เริ่มกระทบเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งปี 2560 

รวมทั้งเมื่อประกาศนโยบายสงครามการค้าปี 2561 ซึ่งกระทบเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2562-2563 โดยกระทบการค้าและการลงทุนจากนโยบายการกีดกันทางการค้าที่มากขึ้นต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันจีนมีมาตรการการตอบโต้จนกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมาก ซึ่งผลกระทบเห็นชัดในปี 2562 ที่จีดีพีไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.1% จากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2% ส่วนการส่งออกปี 2562 หดตัวถึง 5.9% เป็นผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจน

ทั้งนี้จากนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่า 60% และเก็บภาษีจากประเทศอื่นไม่น้อยกว่า 10-20% ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงขึ้นจากความรุนแรงของมาตรการ และช่วงเวลาที่บังคับใช้ 

รวมทั้งช่วงที่ทรัมป์ขึ้นรับตำแหน่งช่วงต้นปี 2568 อาจนำมาตรการที่ประกาศมาบังคับใช้เลยเพราะมีข้อมูลแล้ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว โดย สศช.คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2568 ขยายตัว 3% ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%) โดยการส่งออกจะชะลอตัวจาก 3.8% ในปีนี้ เหลือ 2.6% ในปี 2568

นอกจากนี้ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น สศช.แนะนำให้ผู้ส่งออกและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรทำประกันความเสี่ยงอัตราค่าเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงธุรกิจ

’ทรัมป์’ เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย \'สภาพัฒน์\' จับตาผลกระทบ ‘นโยบายร้อน‘

กระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำแบบพุ่งเป้า 

“จากความเสี่ยงธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในปีหน้าเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงต้องดูเวลาที่เหมาะสม และทำแบบพุ่งเป้ามากขึ้น ขณะเดียวกันต้องดูมาตรการลงทุน และเร่งลงทุนภาครัฐจะพยุงและลดความเสี่ยง และแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย"

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจวันที่ 19 พ.ย.2567 สศช.จะเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบการลงทุนเพื่อลดความผันผวนและผลกระทบทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทุนและสินค้าคงทน

นอกจากนี้เมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยความยืดเยื้อของความขัดแย้งการสู้รบที่ยังไม่เบาบางลง และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะจะกระทบเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน ซึ่งภาคเอกชนธุรกิจนำเข้าและส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดผลกระทบ

ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ15%ดึงการผลิต

สำหรับแนวโน้มนโยบายทรัมป์ด้านอื่นที่จะดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบด้วย 

1.นโยบายด้านแรงงานผู้อพยพ การเพิ่มความเข้มงวดจ้างงานชาวต่างชาติด้วยวีซ่า H-1B รวมถึงการบังคับให้นายจ้างมีการยืนยันสถานะทางการกฎหมาย ของลูกจ้าง และการเข้มงวดกับการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย และการงดการให้สิทธิการเป็นสัญชาติอเมริกันสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศ แต่บุพการีไม่มีใบแจ้งการอพยพถิ่นฐาน

2.นโยบายภาษี การบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล (Tax Cuts and Jobs Act: TCJA) เป็นการถาวร หลังใช้มาตั้งแต่ปี 2560 และสิ้นสุดปี 2568 รวมทั้งปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20-21% เป็น 15% สำหรับประเทศที่ผลิตในประเทศ

3.ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด สนับสนุนใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดเงินลงทุนภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act การยกเลิกเครดิต ภาษีคาร์บอนและเงินสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมด้านมลพิษ และการถอนตัวการเป็นสมาชิกของความตกลงปารีส (Paris Agreement)

4.การเมืองระหว่างประเทศ ลดการมีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมีจุดยืนไม่สนับสนุน NATO และยกเลิกความช่วยยูเครน แต่ยังสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงการเพิ่มความเข้มข้นมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน

จีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว 3% 

สศช.แถลงจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 3% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2 ปีนี้ และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัวจากไตรมาส 2 ปีนี้ 1.2% และเมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3%

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.6% สูงกว่าการประเมินครั้งก่อนที่ 2.3-2.8% (ค่ากลาง 2.5%) ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของจีดีพี พร้อมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลาง 2.8%)

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 3 ขยายตัวถึง 3% มาจากการลงทุนภาครัฐขยายตัวครั้งแรกรอบ 6 ไตรมาส ถึง 25.9% โดยการลงทุนของรัฐบาลกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง 43.1% ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลง 1.1% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไตรมาสนี้อยู่ที่ 26.3% 

ขณะที่การส่งออกสินค้ามูลค่า 77,221 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวในเกณฑ์สูง 8.9% การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.3% และไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติและชาวไทยรวม 582,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.8%

สำหรับสาขาก่อสร้างในไตรมาส 3 กลับมาขยายตัวครั้งแรกรอบ 4 ไตรมาส ที่ 15.5% โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวเกณฑ์สูง 33% ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลง 5.4% รวม 9 เดือนแรกปี 2567 สาขาการก่อสร้างลดลง 2.5% 

ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.02% เงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 198,500 ล้านบาท เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ 243,000 ล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2567 มูลค่า 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3% ของจีดีพี

"จีดีพีไตรมาส 4 ยังไม่ขอกล่าว ผลการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน เกิดขึ้นสัปดาห์สุดท้ายเดือน ก.ย.2567 จึงส่งผลไตรมาส 4 ส่วนที่รัฐบาลจะแจกเพิ่มเติมให้กลุ่มผู้สูงอายุขอให้รอการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวันที่ 19 พ.ย.นี้ ว่าแจกช่วงไหนและจะกระตุ้นจีดีพีไตรมาส 4 เท่าใด”

คาดเศรษฐกิจไทยปี 68 ขยายตัว 2.8% 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2568 คาดว่าขยายตัว 2.3-3.3% มีค่ากลาง 2.8% มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า 

ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3% และ 2.8 %ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้ารูปดอลลาร์ขยายตัว 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ช่วง 0.3-1.3 % และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของจีดีพี

ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ควรเน้นการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น

แนะรัฐบาลเร่งดึงการลงทุนจากต่างชาติ

ขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ การเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว 

รวมถึงการเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนการดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร และการให้ความช่วย SMEs ที่เจอปัญหาสภาพคล่องเพราะคุณภาพสินเชื่อลดต่อเนื่อง และควรเร่งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่มีวงเงินสินเชื่อไม่สูงที่เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้เสียสูง

“ทักษิณ”แนะรัฐบาลหนุนลงทุนสหรัฐ

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นิกเคอิเอเชียที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2567 ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี โดยระบุว่า ความแตกแยกภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งที่สูงขึ้น "จะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยที่วางตัวเป็นกลางมาตลอด” 

รวมทั้งกังวลหากไทยเกินดุลการค้ามากเกินไปอาจทำให้สหรัฐตอบโต้ จากการที่ทรัมป์ให้คำมั่นขึ้นภาษีเพื่อปรับปรุงดุลการค้าสหรัฐ

“ผลกระทบจากการที่ทรัมป์กลับคืนสู่อำนาจจะขยายมาถึงไทยด้วย จึงต้องมีมาตรการกระตุ้นให้บริษัทไทยลงทุนในสหรัฐเพื่อลดแรงกดดันจากสหรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้"

สำหรับการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาว ทักษิณระบุ “เธอประสบความสำเร็จในการผสมผสานประการณ์ในฐานะนักการเมืองของผมกับความคิดของคนหนุ่มสาว” และไม่เคยให้คำแนะนำด้านนโยบายใดเป็นพิเศษ