'สภาพัฒน์' ประชุมร่วม OECD วางกรอบเปลี่ยนผ่านก๊าซเรือนกระจกภาคอุตสาหกรรม
"สภาพัฒน์" ร่วมกับ "OECD จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ กรอบการทำงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรม ตามกฎเกณฑ์ของ OECD ตั้งเป้าบรรลุผลคาร์บอนต่ำ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดให้มีการประชุมปฏิบัติการโครงการกรอบการทำงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 (Framework for Industry’s Net-Zero Transition in Thailand) ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ โดยนายอธิพงศ์ หิรัญเรืองโชค ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนกับ นายยูวาล ลาสเตอร์ (Mr. Yuval Laster) หัวหน้าฝ่ายการเงินสิ่งแวดล้อม การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นประธานร่วมเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์และประสานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน (กพข.)
และเจ้าหน้าที่กองยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (กคพ.) ให้การต้อนรับและหารือกับผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน รวมผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 65 คน
การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ (International Climate Initiative: IKI) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนากลไกสนับสนุนทางการเงินและเสริมสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศ ทั้งนี้ OECD ได้นำเสนอทางเลือกในการลดคาร์บอน 3 แนวทางที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ การแปรรูปชีวมวลเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ การผลิตพลาสติกชีวภาพและย่อยสลายได้ และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาเงินทุนและนโยบายที่จะช่วยขจัดอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีลดคาร์บอนมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมของไทยสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไปเป็นขั้นตอนที่ 4 กำหนดให้มีการประชุมโครงการฯ ครั้งที่ 3 ช่วงเดือนเมษายน 2568 เพื่อปิดช่องว่างด้านความสามารถในการแข่งขันระหว่างเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม
โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านด้านการตลาดและการเงิน สำหรับการดำเนินงานในขั้นตอนที่ 5 คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2568 จะเป็นการเผยแพร่ผลลัพธ์ของโครงการ โดยมุ่งให้เกิดการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
รวมถึงการจัดทำรายงานขั้นสุดท้ายที่จะเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเสนอคณะกรรมการระดับชาติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในภาคปิโตรเคมีและห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป