'การบินไทย' ล็อกพันธมิตรไทย 'เพิ่มทุน' ดัน 'คลัง' ถือหุ้นเหลือ 33.4%
“การบินไทย” ปิดทางดึงสายการบินต่างชาติถือหุ้นเพิ่มทุน เหตุกังวลขัดเงื่อนไขกระทบกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ เดินหน้าเจรจาหาพันธมิตรทุนไทย พร้อมเปิดสัดส่วนหลังปรับโครงสร้างทุน ภาครัฐถือหุ้นรวมไม่เกิน 44% ธุรกิจยังคงเป็นเอกชน “คลัง” ยันเพิ่มผู้บริหารแผนสร้างความสมดุล
KEY
POINTS
Key Points
- การบินไทยเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563
- การแปลงหนี้เป็นทุนดำเนินการเรียบร้อย และกำลังเข้าสู่การขายหุ้นเพิ่มทุน จะเป็นการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นอีกครั้ง
- ก่อนหน้านี้การบินไทยเจรจากับพันธมิตรธุรกิจการบินต่างชาติมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ต้องยกเลิกเพราะติดเงื่อนไขของสตาร์ อัลไลแอนซ์
- ขณะที่กระทรวงการคลังใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนครบ และสัดส่วนการถือหุ้นลดเหลือ 33.4% จาก 47.9%
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเปิดจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างในวันที่ 6-12 ธ.ค.2567 จากนั้นยื่นศาลล้มละลายกลางเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วภายในเดือนธ.ค.2567 รวมทั้งภายในไตรมาส 2 ปี 2568 คาดว่ายกเลิกแผนฟื้นฟู และกลับเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้การบินไทยได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว โดยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างทุนซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน
รวมทั้งจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของบริษัท และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 6-12 ธ.ค.2567
อย่างไรก็ดี ตอนนี้มีความชัดเจนแล้วว่าปลายปีนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างทุน ส่วนทุนของการบินไทยจะกลับมาเป็นบวก เข้าเงื่อนไขยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ EBITDA ตอนนี้เป็นบวก มากกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งครบทั้งสองเงื่อนไขที่กำหนดในการยื่นออกจากแผนฟื้นฟู
ดังนั้นคาดว่าในปลายเดือนเม.ย.นี้ น่าจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นตามโครงสร้างใหม่ และยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในไตรมาส 2 ปีหน้า ก่อนกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ภายในกลางปี 2568
“การเสนอขายหุ้นในกลุ่ม PP ตอนนี้การบินไทยไม่ได้มีการเจรจากับพันธมิตรกลุ่ม Strategic Partner ที่เป็นสายการบินต่างชาติแล้ว เพราะผู้บริหารแผนตัดสินใจแล้วว่าจะยกเลิกการขายหุ้นส่วนนี้ เพราะในระยะสั้นอาจมีอุปสรรค จึงจะเป็นการเจรจาในกลุ่มนักลงทุนไทย เพื่อเสนอขายให้กับผู้ลงทุนรายใหญ่ หรือ High Net Worth ซึ่งจะต้องเป็นนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในไทยเป็นหลัก” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
พร้อมนัดประชุมเจ้าหนี้ 29 พ.ย.67 ใน 3 วาระ
ส่วนการนัดประชุมเจ้าหนี้วันที่ 29 พ.ย.67 นี้ ซึ่งจะมี 3 วาระพิจารณา ประกอบด้วย
1.การลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม 2.ขอจ่ายเงินปันผล และ 3.เพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน คือ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หากมีการพิจารณาโหวตผ่านวาระ 3 เรื่องการเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน ก็เชื่อว่าการทำงานของคณะผู้บริหารแผนจะยุ่งยากขึ้น เพราะเดิมทำงานในคณะรวม 3 คน ย่อมบริหารจัดการได้ง่ายกว่า 5 คนอยู่แล้ว การตัดสินใจบริหารงานจะทำได้เร็วกว่า แต่ท้ายที่สุดการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนหรือไม่นั้น ถือเป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่จะพิจารณา
แต่หากวาระนี้ไม่ผ่านการพิจารณาอีกไม่นานก็จะเข้าสู่ช่วงตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ ภายหลังการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟู ซึ่งในขณะนั้นก็ต้องมีตัวแทนจากภาครัฐในฐานะผู้ถือหุ้นเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งจากสัดส่วนการปรับโครงสร้างทุน ภาครัฐจะถือหุ้นรวมประมาณ 44% ก็จะสามารถส่งตัวแทนมาเป็นบอร์ดการบินไทยได้ตามสัดส่วนหุ้น
“รายชื่อบอร์ดจะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นทั้งหมดต้องช่วยกันพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ารัฐมีอำนาจควบคุมมาก แม้ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็คงทำงานยาก ก็ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นที่จะโหวตรายชื่อบอร์ดกัน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ลดพาร์ “เจ้าหนี้” ได้ประโยชน์
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นของการนัดประชุมเจ้าหนี้ 29 พ.ย.67 นี้ มองว่า 2 วาระแรกของการพิจารณา เรื่องการลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม และขอจ่ายเงินปันผล เป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในอนาคต เนื่องจากจะทำให้การบินไทยสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนได้
ส่วนวาระ 3 เรื่องการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผน ถือเป็นอำนาจการตัดสินใจของเจ้าหนี้ทั้งหมด ที่จะพิจารณาความเหมาะสม และต้องคิดถึงประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
จ่อยกเลิกเจรจาพันธมิตรทุนต่างชาติ
นายชาย กล่าวว่า ประเด็นของการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในกลุ่ม PP ตามที่ก่อนหน้านี้การบินไทยเคยรายงานความคืบหน้าว่าอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรต่างชาติในกลุ่มธุรกิจการบิน แต่ขณะนี้จากการพิจารณาของคณะผู้บริหารแผน และฝ่ายบริหาร มีข้อสรุปที่จะยกเลิกการเจรจานี้ไปก่อน
ทั้งนี้ เนื่องจากพันธมิตรที่เจรจาก่อนหน้านี้ เป็นสายการบินที่อยู่นอกกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ (Star Alliance) ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่การบินไทยเป็นสมาชิกอยู่
ดังนั้น หากมีการร่วมทุนกันก็เกรงว่าจะกระทบต่อความร่วมมือของกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ แต่อย่างไรก็ดี การบินไทยยังคงมองโอกาสในการหาพันธมิตรกลุ่ม Strategic Partner เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
รวมทั้งในขณะนี้ตามที่หลายฝ่ายมีข้อกังวลว่าการบินไทยจะจัดหาพันธมิตรกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาถือหุ้นนั้น ยืนยันว่าในขณะนี้ยังไม่มีการเจรจาเรื่องดังกล่าว โดยการบินไทยจะมุ่งเน้นหาผู้ลงทุน High Net Worth ซึ่งจะต้องเป็นนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในไทยเป็นหลัก เชื่อว่าจะมีผู้สนใจจำนวนมาก ด้วยความเชื่อมั่นในธุรกิจของการบินไทย และโอกาสที่จะขยายตัวในอนาคต
นายชาย กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจของการบินไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 2586
โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการเติบโตนี้ ซึ่งการบินไทยเป็นสายการบินที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีเส้นทางบินแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ จึงเชื่อว่าจะเป็นโอกาสในการเติบโต
ลดประเภทเครื่องบินเหลือ 4 แบบ
ขณะเดียวกันการบินไทยได้เตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ โดยเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางการบินในภูมิภาค โดยเน้นเส้นทางบินระยะสั้นสร้างรายได้ผู้โดยสารต่อหน่วย (Yield) และการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางบิน รวมทั้งเพิ่มเส้นทางบินในเมืองท่องเที่ยวขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมทั้งสร้างจุดยุทธศาสตร์ตั้งศูนย์กลางการบินเพื่อสร้างความได้เปรียบในด้านเครือข่ายเส้นทางการบิน
นอกจากนี้ การบินไทยยังปรับปรุงฝูงบินให้สอดคล้องกับกลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบิน โดยมีเป้าหมายลดแบบเครื่องบินให้เหลือ 4 แบบ จากก่อนหน้าเข้าแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยมีแบบเครื่องบินให้บริการถึง 8 แบบ ซึ่งสร้างต้นทุนค่าซ่อมบำรุง และอะไหล่จำนวนมาก
โดยการบินไทยยังได้เจรจาทำข้อตกลงกับผู้ผลิตเครื่องบิน และเครื่องยนต์ในตลาดโลก ทำการเจรจาตรงไม่ผ่านคนกลาง เพื่อให้ได้สัญญาจัดหาเครื่องบินในราคาที่ดีที่สุด
“คลัง” ยันแผนเพิ่มผู้บริหารสร้างความสมดุล
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน อยู่ที่ฉันทานุมัติของเจ้าหนี้ในการพิจารณา แต่ยืนยันได้ว่าการเสนอเพิ่มผู้บริหารแผนนั้น ภาครัฐมีเป้าหมายเพื่อมีส่วนร่วมในการพิจารณาแนวทาง และนโยบายของรัฐบาล ผลักดันการบินไทยให้มีส่วนร่วมในการยกระดับไทยเป็น Aviation Hub
“นโยบายเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับด้านคมนาคม การใช้เส้นทาง และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้นจึงอยากวางแผนการทำงานร่วมกัน”
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของผู้บริหารแผน จะมีผลต่อการเสนอรายชื่อบอร์ดการบินไทยหลังจากออกแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ชี้แจงว่ากระบวนการคัดเลือกผู้เข้ามาเป็นกรรมการการบินไทยนั้น ไม่ได้มีสิทธิเฉพาะภาครัฐอย่างเดียว เพราะเมื่อมีการปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ เจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนก็คิดเป็นสัดส่วนกว่า 44% ซึ่งใกล้เคียงกับการถือหุ้นของภาครัฐ
ดังนั้นมีสิทธิเสนอชื่อผู้เป็นการบินไทยเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าโครงสร้างกรรมการนี้จะก่อให้เกิด Balance ในกลุ่มผู้ถือหุ้น
ชี้คลังถือหุ้นเหลือ 33.4%
สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นหลังการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน โดยโครงสร้างการถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน ข้อมูล ณ 31 ต.ค.2567 กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 47.9% , รัฐวิสาหกิจ 2.1% , กองทุนวายุภักษ์ 7.6% , ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 42.4%
ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเบื้องต้น พบว่า กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 33.4% , รัฐวิสาหกิจ 4.1% , กองทุนวายุภักษ์ 2.8% , ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 2.8% , เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์