“สหรัฐ-จีน”ฉีกการค้าโลกชี้เจ็บทั้งคู่ "เวียดนาม”รับบทตัวเชื่อมเศรษฐกิจ

“สหรัฐ-จีน”ฉีกการค้าโลกชี้เจ็บทั้งคู่ "เวียดนาม”รับบทตัวเชื่อมเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจและการค้าโลก กำลังอยู่ในจังหวะการจับจ้องหลังปัจจัยทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อมต่อการค้าและการลงทุนกำลังอยู่ในภาวะผันผวนอย่างหนัก

รายงาน “Global Trade Outlook and Statistics”Update: October 2024 โดยองค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุถึงการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของการค้าสินค้าโลกในปี 2024 เป็น 2.7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการประมาณการครั้งก่อน ที่ 2.6% แต่คาดการณ์ปี 2025 ก็มีการปรับลดจาก 3.3% เป็น 3.0% เนื่องจากอุปสงค์สินค้าที่ซื้อขายได้กันนั้นอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ในยุโรปแต่กลับแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเอเชีย

รายงานยังระบุถึง คาดว่าการเติบโตของ GDP จริงของโลกตามอัตราแลกเปลี่ยนตลาดคงไว้ที่ 2.7% ในช่วงระหว่างปี 2023 ถึง 2025 โดยภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2024 น่าจะเป็นเอเชีย จากปัจจัยคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.0% ในขณะที่ภูมิภาคที่เติบโตช้าที่สุดน่าจะเป็นยุโรปที่ 1.1% จากปัจจัยเยอรมนีอ่อนแอเป็นพิเศษ

 ด้านความเสี่ยงต่อการการค้ายังเป็นเรื่องความขัดแย้งในภูมิภาค ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของนโยบาย ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งและปรับขึ้นราคาพลังงาน เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความสำคัญในการผลิตปิโตรเลียม

ทั้งนี้ การแยกตัวของการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เกิดขึ้นในสินค้าทุกประเภท นำไปสู่การจัดแนวการค้าโลกให้สอดคล้องกับความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจำกัดอยู่แค่ผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนน้อยที่สุด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าซึ่งกันต่อผลิตภัณฑ์ทุกประเภท     

"ทั้งสหรัฐและจีนกำลังค้นหาหรือพัฒนาศักยภาพการผลิตใหม่เพื่อกระจายแหล่งจัดหา แม้กระทั่งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนที่สุดสถานการณ์นี้ส่งให้เม็กซิโกและเวียดนามได้กลายมาเป็นเศรษฐกิจที่ “เชื่อมโยง” กัน ในบทบาทการเข้ามาเป็นแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายในการปรับโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่มีตลาดที่สหรัฐ"

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนต.ค. และ 10 เดือนแรกของปี 2567 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค. 2567 มีมูลค่า 27,222.1 ล้านดอลลาร์  ขยายตัว 14.6%   การนำเข้า มีมูลค่า 28,016.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.9%  ดุลการค้า ขาดดุล 794.4 ล้านดอลลาร์ 

ส่วนภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 250,398.0 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.9%  การนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.6%  ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านดอลลาร์ 

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น 

 ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดจีน และญี่ปุ่นที่กลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐ CLMV (กัมพูชา ,สปป.ลาว,เมียนมา,เวียดนาม)สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง

ตลาดสหรัฐ ขยายตัว 25.3%  สหภาพยุโรป (27) 22.1%  และ CLMV 27.9% กลับมาขยายตัวในตลาดจีน 8.5%  ญี่ปุ่น 7.0% และอาเซียน (5) 6.8% 

ส่วนตลาดรอง ขยายตัว2.4%  โดยขยายตัว ในตลาดเอเชียใต้ 12.8% ตะวันออกกลาง 1.9% ลาตินอเมริกา 31.5% สหราชอาณาจักร 58.1% และรัสเซียและกลุ่ม CIS 3.0% ขณะที่ตลาดทวีปออสเตรเลียหดตัว 14.0% แอฟริกา  3.1% 

หากดูรายละเอียดตลาดสำคัญอย่างสหรัฐ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์

ด้านตลาดจีน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์

เมื่อมองไปข้างหน้ากระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (working target) ตามที่ได้ตั้งไว้

 โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ 

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป

“สหรัฐ-จีน”ฉีกการค้าโลกชี้เจ็บทั้งคู่ \"เวียดนาม”รับบทตัวเชื่อมเศรษฐกิจ