SCG ชู 4 เครื่องมือ ‘เคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว’

SCG ชู 4 เครื่องมือ ‘เคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว’

SCG ชู 4 เครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว พัฒนาองค์กรควบคู่สังคม ชี้ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส พร้อมยก “สระบุรี แซนด์บ็อกซ์” ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย

"กรุงเทพธุรกิจ" จัดงาน "Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business" ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน งานจะจัดขึ้นในวันที่ 3 - 4 ธ.ค.2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 - 17.00 น. ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายณัฐวุฒิ อินทรส ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยในช่วง Special Talk : Driving Inclusive Green Transition ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส โดยระบุว่า วันนี้โลกไม่เหมือนเดิม จากจุดเริ่มต้นเป็นโลกร้อน สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นโลกเดือดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบเกิดเป็นภัยพิบัติต่างๆ 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่ทุกคน และทุกองค์กรกำลังเร่งผลักดันคือ โจทย์ของประเทศไทยที่ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) สู่การเป็น NetZero ภายในปี 2065 ซึ่ง SCG มองว่าการขับเคลื่อนโจทย์ดังกล่าววันนี้ไม่เพียงเป้าหมายลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ แต่ต้องการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ และสังคม เพื่อกู้โลกใบนี้ ลดการสร้างทั้งขยะ และมลภาวะ 

SCG ชู 4 เครื่องมือ ‘เคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว’

“โจทย์การก้าวสู่ NetZero ในปี 2065 เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดย SCG เราขับเคลื่อนผ่าน 4 กลไก คือ 1.การสร้างองค์กรคล่องตัว ยืดหยุ่น 2.มีนวัตกรรมสีเขียว 3.ผลักดันองค์กรแห่งโอกาส สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และ 4.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green economy” นายณัฐวุฒิ กล่าว

อย่างไรก็ดี SCG ได้ริเริ่มการขับเคลื่อนเป้าหมาย NetZero โดยพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกขั้นตอนการผลิตปูนซีเมนต์ พร้อมทั้งร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้าง Nature positive จัดทำโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มทำ และขยายผลไปชุมชนโดยรอบ อาทิ ทำปะการังเพื่อสร้าง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมไปถึงการยกระดับนวัตกรรมรีไซเคิลเพื่อลดขยะ พร้อมทั้งสนับสนุน Inclusive society สนับสนุนการสร้างอาชีพ อัปสกิลต่างๆ ให้แก่ทุกคนในสังคมที่สนใจ สร้างสังคมที่เป็นธรรม และเท่าเทียม 

นอกจากนี้ การทำให้เกิดการลดคาร์บอน SCG เชื่อว่าต้องเริ่มลด Emission Gap, Supply Gap, Demand Gap และ Financial Gap ซึ่ง SCG ได้ริเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ภายใต้ “สระบุรี แซนบ็อกซ์” ซึ่งวันนี้ได้เห็นผลลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง จากการสร้างพลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะ การพัฒนาโปรดักต์สีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ และการสร้างพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวและบูรณาการทุกส่วนเข้าหากัน เพื่อทำให้สระบุรีเป็นพื้นที่สีเขียว 

นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า วันนี้ถ้าอุตสาหกรรมซีเมนต์ลดคาร์บอนได้ เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดคาร์บอนของอีกหลายอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆ โดยทุกวันนี้  SCG ได้ริเริ่มความร่วมมือกันสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยในแคนาดา เพื่อศึกษาการจัดการด้านคาร์บอน นำมาใช้ในสระบุรี แซนบ็อกซ์ ซึ่งเป็นโมเดลที่เห็นผล และเชื่อว่าจะผลักดันไทยสู่เป้าหมายลดคาร์บอน ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้ชุมชน จากการผลักดันองค์ความรู้ในการต่อยอดการจัดการขยะชุมชน การให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้นวัตกรรมทางการเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ SCG ยังมีเป้าหมายผลักดันให้จังหวัดสระบุรี เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นเรื่องการท่องเที่ยวพื้นที่สีเขียว วันนี้สระบุรี แซนบ็อกซ์เป็นคลัสเตอร์แรกของไทย ที่กำลังทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยต้องยอมรับว่าวันนี้เราไปคนเดียว ไปได้ไว แต่ถ้าจะไปด้วยกันแบบ Net Zero การพัฒนาควบคู่ไปกับทุกคนในสังคมเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว รัฐเองต้องดึงเข้ามา SCG อยากเห็นภาพความร่วมมือเหล่านี้ เพราะถ้าเร่งเปลี่ยน ยิ่งเห็นโอกาส ถ้าเริ่มเดินหน้า คนไทยได้เห็น Net Zero แน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์