รัฐเข้มงวดสารเร่งเนื้อแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคยั่งยืน

รัฐเข้มงวดสารเร่งเนื้อแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคยั่งยืน

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ปลื้มกรมปศุสัตว์ตรวจเข้มสารเร่งเนื้อแดง ช่วยผู้บริโภคมีอาหารปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี ลดโอกาสที่จะมีปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่ามาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นมาตรการที่มุ่งมั่นในการบังคับใช้กฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นความมุ่งมั่นที่ช่วยยกระดับความปลอดภัยในอาหาร ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืนด้วย

รัฐเข้มงวดสารเร่งเนื้อแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคยั่งยืน

“ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู และผู้บริโภคด้วย ขอขอบคุณกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานเกี่ยวข้องที่เข้มงวดในปฏิบัติการกวาดล้างสารเร่งเนื้อแดงทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจกับการบริโภคเนื้อหมู กับความปลอดภัยต่อสุขอนามัยที่ดี เท่ากับลดโอกาสที่จะมีปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าว

นายสุนทราภรณ์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายของกรมปศุสัตว์ดังกล่าว ถือเป็นมาตรการที่ช่วยคุ้มครองคนไทยไม่ให้ต้องเสี่ยงกับสารนี้ และยังช่วยให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูสามารถเดินหน้าต่ออย่างมั่นคง ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของการสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทย และเพื่อความมั่นใจในการเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัยในอาหาร

รัฐเข้มงวดสารเร่งเนื้อแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภคยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ประเทศไทยประกาศห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ในการเลี้ยงสัตว์มานานกว่า 20 ปีแล้ว ได้แก่ เคลนบิวรอล และซาลบิวทามอล ทำให้หมูมีชั้นไขมันลดลง และเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อ หรือเนื้อแดง ที่สำคัญแม้ว่าเนื้อหมูที่มีสาร อันตรายนี้จะถูกทำให้สุกแล้ว ก็ไม่สามารถกำจัดสารให้หมดไปได้

จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยมีผลต่อการทำงานของระบบประสาท ที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์