เปิดทางรอด 'เอกชน' ตั้งรับนโยบาย 'อเมริกันเฟิร์ส' ของ 'โดนัลด์ ทรัมป์'

เปิดทางรอด 'เอกชน' ตั้งรับนโยบาย 'อเมริกันเฟิร์ส' ของ 'โดนัลด์ ทรัมป์'

เปิดทางรอด "เอกชน" ตั้งรับนโยบายทรัมป์ 2.0 "America First" ลุยพัฒนามาตรฐานสินค้าออกสู่ตลาดใหม่รับความเสี่ยงในอนาคต จี้ภาครัฐส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากขึ้น ปกป้อง Supply Chain ในไทย สกัดสินค้าจีนราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน

KEY

POINTS

  • ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มีความกังวลต่อนโยบายทรัมป์2.0 อยู่ระดับปานกลาง เนื่องจากยังต้องติดตามว่านโยบายดังกล่าวจะมีความชัดเจนอย่างไรหลังจากเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 
  • นโยบาย America First ที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเทศ 10% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% ผู้บริหาร ส.อ.ท. กังวลต่อผลกระทบทางอ้อมจากการที่จีนต้องหาตลาดใหม่
  • ขณะเดียวกันนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นทดแทนสินค้าจีน

หลังจาก "โดนัลด์ ทรัมป์" ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาทุกชนิดเพิ่มขึ้น 25% อีกทั้ง ยังจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทุกชนิดเพิ่มขึ้น 10% จากอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งไทย ก็ต้องติดตามสถานกาณ์อยู่ตลอดว่าจะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

การกลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐรอบ 2 ทำให้โลกจับตานโยบายการค้าสหรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ที่ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ได้ทำให้โลกการค้าปั่นป่วนโดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศ คือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 42 ในเดือนพ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ต่อมุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มีความกังวลต่อนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับปานกลาง เนื่องจากยังต้องติดตามว่านโยบายดังกล่าวจะมีความชัดเจนอย่างไรหลังจากเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2568 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้นโยบาย America First ที่จะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุด 60% นั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. มีความกังวลต่อผลกระทบทางอ้อมจากการที่จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียนและประเทศไทยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความเสี่ยงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นจากการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ โดยตั้งแต่เดือนม.ค. - ต.ค. 2567 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 28,904 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 20.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ขณะเดียวกันนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นทดแทนสินค้าจีน ตลอดจนเป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยและการเข้าไปมีส่วนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สินค้าเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มองว่า ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเร่งพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจในการรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีผลพวงมาจากนโยบายทรัมป์ 2.0  

รวมทั้งมีการวางแผนกระจายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต ส่วนภาครัฐควรบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศให้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับปกป้อง Supply Chain ภายในประเทศไทย รวมทั้งมีการออกมาตรการที่เข้มงวดในการรับมือสินค้าจีนโดยเฉพาะสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐาน

 

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 42 จำนวน 7 คำถาม ดังนี้

1. นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับใด

  • อันดับ 1 : ปานกลาง 56.7%
  • อันดับ 2 : มาก 25.3%
  • อันดับ 3 : น้อย 18.0%

2. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อนโยบายทรัมป์ 2.0 ในเรื่องใด

  • อันดับ 1 : การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศในอัตรา 10%     66.0% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุด 60%
  • อันดับ 2 : มาตรการดึงการลงทุนกลับสหรัฐฯ (Reshoring) และนโยบาย America First 31.3%
  • อันดับ 3 : การถอนตัวจากข้อตกลง Paris Agreement โดยเน้นความมั่นคง 30.7% ด้านพลังงานก่อนการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ
  • อันดับ 4 : การปรับยุทธศาสตร์การเจรจาความร่วมมือระหว่างประเทศ   28.0% เป็นแบบทวิภาคีแทนแบบพหุภาคี  

3. นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในเรื่องใด

  • อันดับ 1 : โอกาสของประเทศไทยในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ 68.0% ทดแทนสินค้าจีน
  • อันดับ 2 : การโยกย้ายการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย     62.0% เนื่องจากสงครามการค้า และการเข้าไปมีส่วนในห่วงโซ่อุปทานสินค้าเทคโนโลยีใหม่
  • อันดับ 3 : ผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ลดลง เนื่องจาก 30.7% การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในความขัดแย้งฯ
  • อันดับ 4 : โอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ 6.7%

4. นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยในเรื่องใด 

  • อันดับ 1 : สินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอาเซียน 70.0% และประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
  • อันดับ 2 : ความเสี่ยงต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น 61.3% จากการเกินดุลการค้าสหรัฐ และการที่จีนใช้ไทยเป็นช่องทางผ่านของสินค้าไปยังสหรัฐฯ
  • อันดับ 3 : ต้นทุนการส่งออกที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า 39.3% ของสหรัฐ และความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก 
  • อันดับ 4 : นักลงทุนจากสหรัฐฯ ชะลอการลงทุนในประเทศไทย จากนโยบาย America First   8.7%

5. ภาครัฐควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 อย่างไร

  • อันดับ 1 : ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 56.7% และให้ความสำคัญกับ Supply Chain ในประเทศไทย รวมทั้งออกมาตรการรับมือสินค้าจีน
  • อันดับ 2 : เร่งปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบให้ทันสมัยรองรับมาตรการใหม่ๆ 52.0% ที่อาจกระทบต่อภาคธุรกิจ
  • อันดับ 3 : เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อสร้างแต้มต่อในตลาดที่มีศักยภาพ   47.3% เช่น FTA ไทย-EU
  • อันดับ 4 : รักษาบทบาทความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อสร้างประโยชน์ 26.0% จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน

6. ภาคเอกชนควรปรับตัวรับมือผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 อย่างไร

  • อันดับ 1 : พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก 66.7% และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
  • อันดับ 2 : กระจายการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ     63.3% นอกเหนือจากสหรัฐฯ
  • อันดับ 3 : ใช้เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 29.3% เพื่อรับมือกับความผันผวนของค่าเงิน
  • อันดับ 4 : สร้างโอกาสในการขยายการลงทุนในสหรัฐฯ 13.3% และประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ

7. นโยบายทรัมป์ 2.0 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านใด

  • อันดับ 1 : การค้าและการลงทุน  62.0%
  • อันดับ 2 : ค่าเงินบาท 52.0%
  • อันดับ 3 : ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ 25.3%
  • อันดับ 4 : ความผันผวนของตลาดทุน และประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ 19.3%