'กรมการข้าว"เปิดฟังก์ชันใหม่ ' ทำนาทางเลือก”ยกระดับรายได้

'กรมการข้าว"เปิดฟังก์ชันใหม่ ' ทำนาทางเลือก”ยกระดับรายได้

ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ด้วยผลผลิตข้าวของไทยโดยเฉลี่ยยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหลายๆประเทศที่เป็นคู่แข่ง เช่น จีน เวียดนาม เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของความหลากหลายทางพันธุกรรมแล้วข้าวไทยมีจุดแข็ง ที่อีกหลายประเทศไม่สามารถจะแข่งขันได้

อานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า พื้นที่การปลูกข้าวของไทย มีประมาณ 60-70 ล้านไร่ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยถือครองจริงๆไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน ผลผลิตโดยรวมจะมีประมาณ 30 -33ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 20-22ล้านตันข้าวสาร ในจำนวนนี้จะใช้บริโภคภายในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน ส่งออก 8-10 ล้านตัน 

สำหรับปีการเพาะปลูก 2567/68  พบว่า ช่วงต้นฤดูการปลูกเกิดอุทกภัยขึ้น 58 จังหวัด พบว่าพื้นที่ปลูกเสียหาย1.4 ล้านไร่หรือประมาณ 6.3 ล้านตัน ถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ไม่มากนักและไม่ได้ส่งผลกระทบกับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงนี้โดยยังมีผลผลิตโดยรวมที่ 30 ล้านตันข้าวเปลือก  ในขณะที่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบนั้นได้รับการเยียวยาจากทางรัฐบาล และกรมการข้าวได้ให้การช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต 

สำหรับผลผลิตข้าวต่อไรของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ จากต้นทุนการผลิต 5,000-5,500 บาทต่อไร่ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเวียดนาม ที่มีผลผลิตเฉลี่ยที่ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จีน 1,000-1,200 กิโลกรัมต่อไร่  แต่หากมองในแง่ของความหลากหลายพันธุกรรมข้าวไทย จะเห็นว่าข้าวบางพันธุ์ เช่น ข้าวขาวพื้นแข็งก็ให้ผลผลิตต่อไรที่ 1,000-1,200 กิโลกรัมเช่นกัน  แต่หากนำมาหารเฉลี่ยกับข้าวพื้นนุ่มที่เป็นข้าวไวแสง ปลูกได้ปีละครั้งอย่างข้าวหอมมะลิที่ให้ผลผลิตต่อไร่ที่ 350-400 กิโลกรัม หรือโดยรวมแล้วให้ผลผลิตเพียง ประมาณ 2-3 ล้านตัน นั้นทำให้อัตราเฉลี่ยผลผลิตข้าวไทยลดลง  

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของข้าวหอมมะลิ ที่มีความหอม ความนุ่มเป็นจุดแข็ง ซึ่งความโดดเด่นนี้ได้มาจากพื้นที่ปลูกที่มีความแห้งแล้ง ในภาคอีสานและภาคเหนือบางจังหวัดเท่านั้น  ยิ่งปีใดแล้งก็ยิ่งบีบคั้นให้ข้าวมีความหอมยิ่งขึ้น แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ แต่ข้าวหอมมะลิเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อยกระดับเพิ่มมูลค่าข้าว  กรมการข้าวเห็นว่าควรจัดแผนการตลาดใหม่ โดยเริ่มจากการแยกประเภทข้าว แยกตลาดแล้วจัดโซนนิ่งปลูกข้าวตามความต้องการของตลาด

" ข้าวที่มีผลผลิตน้อย แต่ความต้องการของตลาดสูง ข้าวสี ข้าวกล้อง ข้าวเฉพาะถิ่น ประมาณ 5-10 % ของผลผลิตโดยรวม ที่ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มต้องการ เหล่านี้จะสร้างคุณค่าให้เหมือน สินค้า  Hermès คือน้อยแต่มากเจาะขายในตลาดบนที่มีอำนาจซื้อในราคาสูง ส่วนข้าวพื้นแข็ง และข้าวขาว ที่ปลูกในภาคกลาง ก็ขายในตลาดทั่วไป ซึ่งศักยภาพของไทยสามารถแข่งขันได้ "

อานนท์  กล่าวว่า ในส่วนของข้าวสี พบว่าผู้บริโภคจีนนิยมมาก เนื่องจากมีสารบางชนิดที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากินยาก เนื่องจากการส่งออกมีน้อยและราคาแพงมากในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาในประเทศไทย และจึงนิยมเลือกบริโภคข้าวสีมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้กรมการข้าวอยู่ระหว่างประสานกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงกับร้านอาหารต่างๆส่งเสริมให้ใช้ข้าวสีในกลุ่มนักท่องเที่ยวมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าและประชาสัมพันธ์ข้าวไทย 

ในขณะเดียวกัน ในปี 2567 กรมการข้าวได้นำข้าวสีเหล่านี้จำนวน 7สายพันธุ์ เป็นข้าวเรนโบว์ ที่มีม่วงเข้ม ม่วงอ่อน ขาว เขียวอ่อน เขียวเข้ม เป็นต้น ไปปลูกในจังหวัดเชียงราย จัดแปลงเป็นรูปแมวแปลกตา  และในปีนี้ปลูกในจังหวัดพะเยา จัดแปลงเป็นไดโนเสาร์ รูปน้องมัดใจ ( Mascot นกยูง)  สร้างหอชมวิว ทางเดินให้เข้าชม กลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญอีกด้วย

นอกจากนี้ จากการวิจัยพบว่าใบของข้าวสีพันธุ์ต่างๆ  นั้นมีโปรตีนสูง สามารถนำไปอบแห้งขายกิโลกรัมละ 50 บาท โดยข้าว 1 ไร่จะเก็บใบได้ 2,000 กิโลกรัมสด  เมื่อนำไปอบแห้งจะเหลือ 1,000 กิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ประมาณ  4 หมื่นบาทต่อไร่  ซึ่งโปรตีนที่สกัดสารออกมาได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอาหารเชิงสุขภาพ และ  แพลนต์ เบส ฟู้ด (Plant based food)  และสามารถนำข้าวสีเหล่านี้ไปสกัดเป็น โปรตีนไฮโดรไลเสต กิโลกรัมละ 1 แสนบาทเป็นอย่างน้อย  ซึ่งจีน ญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก 

การทำนาปลูกข้าว ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเพื่อใช้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่การปลูกข้าวสีบางสายพันธุ์ ที่มีโปรตีนสูง สามารถใส่จุลินทรีย์บางชนิด แล้วเก็บเกี่ยวก่อนที่ข้าวจะออกรวง ม้วนและมัดขายได้เลย เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้เวลาปลูก ประมาณ  4 เดือน  ขายได้แพงกว่าอาหารเพื่อบริโภค โดยกรมการข้าวส่งเสริมปลูกที่จังหวัดมุกดาหาร  โดยสามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้งสลับกับการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อบำรุงดิน  ปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด 

การทำนาในปัจจุบันยังต้องคำนึงถึงกระแสความต้องการความยั่งยืนของโลกด้วย กรมการข้าวจึงร่วมกับกรมชลประทานเพื่อทำนายั่งยืนด้วยวิธีการเปียกสลับแห้งซึ่งผลพิสูจน์ออกมาแล้วว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30-40 %  ลดการใช้น้ำได้ถึง 50 % เหมาะสำหรับปลูกในเขตชลประทาน พื้นที่นาปรังที่สามารถวางแผนการให้น้ำได้  

ภายหลังการเก็บเกี่ยว จะส่งเสริมให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์เพื่อสลายตอซังใน 14 วัน กลายเป็นปุ๋ยเป็นอีกวิธีการเพื่อลดการเผา นอกจากนี้กรมการข้าวยังอยู่ระหว่างการวิจัยจุลินทรีย์ชนิดใหม่ ที่กินก๊าซมีเทนเป็นอาหาร หากประสบผลสำเร็จผลผลิตข้าวที่ได้จะเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังขายคาร์บอนเครดิต เป็นอีก 1 รายได้ของเกษตรกร โดยกรมการข้าวจะประสานกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน)จำกัด หรืออบก. เพื่อประทับตราสัญลักษณ์เป็นข้าวคาร์บอนต่ำ อีกด้วย 

\'กรมการข้าว\"เปิดฟังก์ชันใหม่ \' ทำนาทางเลือก”ยกระดับรายได้

กรมการข้าวยังส่งเสริมให้ศูนย์ข้าวชุมชน ที่มีอยู่กว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ สร้างโรงอบข้าว เพื่อลดความชื้นที่เกษตรกรนิยมเกี่ยวแล้วขายสด ทำให้โรงสีกดราคาที่ควรได้รับ ในขณะที่ข้าวสดจะอยู่ได้เพียง 24ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้เกษตรกรต้องรีบขาย ดังนั้นการนำมาเข้าอบลดความชื้นก่อนจะส่งผลให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้นโดยข้าวสดจะขายได้10-11 บาทต่อกิโลกรัม ข้าวอบแห้งแล้วขายได้ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์ข้าวชุมชนที่มีศักยภาพ ได้ติดตั้งโรงอบลดความชื้นไปบางแล้ว ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็งมากขึ้น

แนวทางของกรมการข้าวเหล่านี้ จะส่งผลให้ชาวนาหนีจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดของประเทศ เนื่องจากมีอีกหลายทางเลือกที่จะเพิ่มรายได้ แต่ต้องปรับวิถีชีวิตและเป้าหมายใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นมิติของชาวนาที่ยั่งยืน