กรมวิชาการเกษตร หนุนไทยขึ้นแท่นแหล่งผลิต แปรรูป การค้ากาแฟระดับเอเชีย
กรมวิชาการเกษตร ดัน สุดยอดกาแฟไทย สู่มาตรฐานเวทีโลก สอดคล้องแผนพัฒนากาแฟแห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนา เพิ่มคุณภาพ และมูลค่าอัตลักษณ์กาแฟไทยไปสู่ระดับสากล ก้าวเป็นผู้นำการผลิต การแปรรูป และการค้ากาแฟคุณภาพในระดับเอเชีย
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยภายหลังพิธีมอบรางวัลการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ประจำปี 2567 และรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เกษตรกรผู้ชนะเลิศผู้ชนะเลิศการประกวดในแต่ละประเภท ถือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้เกษตรกรว่า
กรมวิชาการเกษตรได้จัดกิจกรรมการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ภายใต้แนวคิด “การผลิตกาแฟเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Coffee Production) การปลูกกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่การผลิตกาแฟไทย ที่จัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 4 เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากกาแฟที่เป็นพืชเศรษฐกิจพร้อมช่วยดูแลป่า
การประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2567 ในปีนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับบริษัท Big Black Box และ Q Project Thailand โครงการเพื่อพัฒนากาแฟพิเศษไทย และสถาบันคุณภาพกาแฟระดับโลกอย่าง CQI (Coffee Quality Institute) เพื่อปรับมาตรฐานใหม่ในการตัดสินให้เป็นไปตามหลักสากลด้วยการใช้มาตรฐานของ CQI โดยได้รับเกียรติจาก Thomas Ameloot กรรมการตัดสินในระดับโลก และ Steven Puvalski นักคั่วกาแฟระดับโลก ทำให้มั่นใจในมาตรฐานการตัดสินเป็นไปตามหลักสากลในระดับนานาชาติ โดยในปี 2567 นี้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วประเทศส่งสิ่งประกวด 245 ราย แบ่งเป็นประกวดเมล็ด 196 ราย และการประกวดสวนเชิงยั่งยืน (GAP) ที่เปิดให้มีการประกวดปีนี้เป็นปีแรก 49 ราย
ผู้ชนะเลิศการประกวด เมล็ดกาแฟอะราบิกา 3 ประเภท มีดังนี้
1. ประเภท กาแฟอะราบิก้า กระบวนการแปรรูป Wet process
ผู้ชนะได้แก่ นายวิชัย กำเนิดมงคล จังหวัดน่าน
2. ประเภท กาแฟอะราบิก้า กระบวนการแปรรูป Dry process
ผู้ชนะได้แก่ นายพิเชฐ กล้าพิทักษ์ จังหวัดน่าน
3. ประเภท กาแฟอะราบิก้า กระบวนการแปรรูป Honey process
ผู้ชนะได้แก่ นายฉิ่ง แซ่ท้าว จังหวัดน่าน
4.ประเภท โรบัสตา ผู้ชนะได้แก่ นายภีร์นริศ์ ผ่องหทัยกุล จังหวัดน่าน
5.ประกวดสวนกาแฟเพื่อความยั่งยืนตามหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู (GAP & Regenerative)
ผู้ชนะได้แก่ นายถาวร จิรนันทนุกุล จังหวัดน่าน
สำหรับผู้ชนะการประกวด ทั้งประเภทการประกวดเมล็ดกาแฟอะราบิกา 3 ประเภท และโรบัสตา 1 ประเภท รวมถึงการประกวดสวนเชิงยั่งยืน (GAP) ซึ่งได้มีการจัด Roadshow ในประเทศ โดยนำกาแฟที่ติด Top 10 ของแต่ละ Process ไปให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้มีโอกาสลิ้มลองกาแฟคุณภาพสูง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และกรุงเทพฯ พร้อมกับการจัดประมูลกาแฟ Top10 ของแต่ละ Process กลุ่มของ Arabica 3 Process (แบบเปียก/แห้ง และกึ่งแห้ง) และRobusta ไม่แยกกระบวนการแปรรูป เพื่อส่งเสริมการขายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยและในช่วงวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2567 ที่ได้ผ่านมาด้มีการนำกาแฟและเกษตรกรผู้ชนะไปโชว์กาแฟ “Thailand Best Coffee Beans” และเข้าร่วมงาน Taiwan International Coffee Show 2024 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ที่เป็นงานกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่งผลทำให้เกิดการรับรู้ที่จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มโอกาสขยายตลาดกาแฟไทยในต่างประเทศ พร้อมยกระดับมาตรฐานกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากลให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น สอดคล้องแผนพัฒนากาแฟแห่งชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนา เพิ่มคุณภาพ และมูลค่าอัตลักษณ์กาแฟไทยไปสู่ระดับสากล พร้อมเป็นผู้นำการผลิต การแปรรูป และการค้ากาแฟคุณภาพในระดับเอเชีย ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทั้งการปลูกและการแปรรูป ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปในตลาดโลก ถือเป็นความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมกาแฟไทยในการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟไทยสู่การแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร ยังได้พัฒนากาแฟพันธุ์ กวก.เกอิชา (Coffea arabica ‘DOA Geisha’) ที่มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติและคุณภาพที่โดดเด่นระดับนานาชาติ ทั้งในด้านผลผลิต ความต้านทานโรค กลิ่น และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยได้รับความสนใจและมีความต้องการปลูกในประเทศไทย ปัจจุบันกาแฟพันธุ์ กวก.เกอิชา ได้ผ่านการพิจารณารับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนล่าสุด หลังตรวจสอบข้อมูลและลักษณะประจำพันธุ์ตามหลักวิชาการผ่านเงื่อนไข พร้อมติดประกาศโฆษณา 30 วัน ไร้ผู้ทักท้วง พร้อมทั้งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 เพื่อบันทึกไว้ในฐานข้อมูลพันธุ์พืชของประเทศไทย ออกหนังสือรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นหลักฐาน และเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเปรียบเสมือนการทำบัตรประจำตัวพันธุ์พืชที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพกาแฟไทย
“นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟไทย ที่จะขยายธุรกิจและลงทุนในตลาดที่กำลังเติบโตเช่นประเทศจีนและสหราชอาณาจักร สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ ต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ การพัฒนาสายการผลิตอย่างยั่งยืน การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตกาแฟคุณภาพมูลค่าสูง เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ภายใต้นโยบายการสนับสนุนยกระดับสินค้ากาแฟไทยไปเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และโอกาสของผู้ประกอบการไทย”