ถอดบทเรียน New Business ถึงเวลา SCG หั่นทิ้งธุรกิจกำไรน้อย

ถอดบทเรียน New Business ถึงเวลา SCG หั่นทิ้งธุรกิจกำไรน้อย

ถอดบทเรียน New Business ถึงเวลา SCG หั่นทิ้งธุรกิจที่สร้างกำไรน้อย สร้างการเติบโตระยะยาวรับโลกผันผวน สร้างโอกาสธุรกิจในยุค ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ รุนแรง

KEY

POINTS

  • หากมองผลประกอบการ 3 ไตรมาส ปี 2567 พบว่า กำไรปีต่อปีลดลง 40% โดยธุรกิจที่ลงคือปิโตรเคมี เมื่อซุมเข้าไปพบว่ากระแสเงินสดลงเพียง 10% จึงมั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ 
  • ตลอดหลายปีที่ผ่านมา SCG ทดทองพัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อตอบรับกับ New Business มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เมื่อไปได้ดีจะใส่เงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต 
  • ธุรกิจไหนดูแล้วว่าจะไม่สำเร็จก็ไม่ควรยื้อไว้ และโยกบุคลากรไปอยู่ในกลุ่มที่สร้าง Impact ได้มากกว่า ไม่ใช่ว่าคนที่ทำไม่เก่ง แต่ดูแล้วผลตอบแทนในธุรกิจไม่เวิร์คและไม่คุ้มค่า

 

จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้กระทบกับเศรษฐกิจวงกว้าง โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ดังนั้น ธุรกิจไทยจะต้องเร่งปรับตัวรับกับเทรนด์การยอมรับของผู้บริโภคในตลาดการค้าหลักโดยเฉพาะสินค้าคาร์บอนต่ำ 

ในขณะที่สินค้าไร้มาตรฐานต่างล้นทะลักเข้ามาจำนวนมากในประเทศไทย ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อหาตลาดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มเอสเอ็มอีเท่านั้น องค์กรขนาดใหญ่สินทรัพย์กว่า 8 แสนล้านบาท อย่าง SCG ต้องมุ่งปรับ Portfolio พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าตอบรับกับผู้บริโภคทั่วโลก  

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แผนธุรกิจปี 2568 หากมองผลประกอบการ 3 ไตรมาส ปี 2567 พบว่า กำไรปีต่อปีลดลง 40% ถือว่าเยอะ และเมื่อแยกธุรกิจที่ลงคือปิโตรเคมี แต่เมื่อซูมจะเห็นว่ากระแสเงินสดลงแค่ 10% SCG จึงมั่นใจว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ 

อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีในไทยยังถือว่ามีกำไร แต่ที่ดึงกำไรคือธุรกิจที่เวียดนาม เพราะเป็นคอมเพล็กซ์ใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มดำเนินการใน 3 ปีแรก การเดินเครื่องยังไม่นิ่งและยังไม่มีมูลค่าเพิ่ม

ถึงเวลาหั่นทิ้งธุรกิจกำไรน้อย สร้างการเติบโตธุรกิจใหม่

นายธรรมศักดิ์ กล่าวถึงการตัดทิ้งธุรกิจที่ไม่ทำกำไรว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา SCG ได้ทดทองพัฒนาธุรกิจใหม่มากมายเพื่อตอบรับกับ New Business แต่ต้องยอมรับว่า การทำธุรกิจใหม่มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ เมื่อมองเห็นแล้วว่าจะไปได้ดีจะใส่เงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต 

ส่วนธุรกิจไหนดูแล้วว่าจะไม่สำเร็จก็ไม่ควรยื้อไว้แล้วโยกบุคลากรให้ไปอยู่ในกลุ่มอื่นที่สร้าง Impact ได้มากกว่า ซึ่งการสตรีมไลน์ธุรกิจจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าคนที่ทำไม่เก่ง แต่ดูแล้วผลตอบแทนในธุรกิจไม่เวิร์คและไม่คุ้มค่า

“อย่างธุรกิจขนส่ง SCG EXPRESS ที่รู้จักกันในนามแมวดำ ที่ต้องยุติลงถือว่าเติบโต แต่ผลตอบแทนทางการเงินน้อย และจะต้องถมเงินไปอีกเท่าไหร่ แล้วใครจะได้ประโยชน์ หากเทียบกับธุรกิจรีไซเคิล โพลิเมอร์ที่คุ้มกว่า เราต้องทำในสิ่งที่ดีกว่าและคุ้มกว่าในระยะยาว เป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจ”

ทั้งนี้ จะเห็นว่า SCG ได้ขยายธุรกิจก้าวสู่ธุรกิจใหม่ตอบรับเทรนด์โลก เช่น พลังงานสะอาด ซึ่งลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ผ่านการทำ Rondo Heat Battery ซึ่งสิ่งไหนที่ขยายธุรกิจด้านสมาร์ท กริด ซึ่งสร้างผลตอบแทนทางการเงินระยะยาว และกล้าปิดธุรกิจเก่าที่ไม่เวิร์ค สรุปแล้วมีทั้งเปิดใหม่และตัดทิ้งไป

ภูมิรัฐศาสตร์มีกระทบทั้งด้านลบ-บวกต่อไทย

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐส่งผลกระทบการค้าทั่วโลก ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบ เช่น เมื่อสินค้าจากจีนไม่สามารถส่งไปสหรัฐได้จะไหลเข้ามายังประเทศไทยและอาเซียน

ดังนั้น หากธุรกิจไทยไม่รีบปรับตัว อาทิ ด้านการลดต้นทุน จะโดน Pressure จากสินค้าราคาถูกจากจีนที่มีขนาดที่ใหญ่กว่าไทยมาก และอีกมุมมองเมื่อจีนไม่สามารถขายไปสหรัฐได้จึงต้องซื้อขายกับกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงไทย จึงเป็นกลยุทธ์ที่มองว่าจะทำอย่างไรให้เราสามารถขายของเข้าสหรัฐได้

อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าของที่ขายให้เมืองไทยอยู่ ๆ จะขายให้สหรัฐจะต้องเข้ากฎเกณฑ์ มาตรฐานของสหรัฐด้วย อาจใช้เวลาในการปรับตัวในบางสินค้า ซึ่งสินค้าใดปรับตัวได้ก่อนก็จะยังคงอยู่รอดได้ ดังนั้น สงครามการค้าที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เอสเอ็มอีที่อาจจะปรับตัวได้น้อยกว่า แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยชะลอการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

“ภาครัฐอาจจะต้องชะลอการเอาสินค้าราคาถูกจากจีน เซฟการ์ด โปรโมทตัว Local Content ของจีนหรือประเทศอื่นที่จะมาลงทุนในบ้านเราเพื่อ Support Local Economy เกิดการจ้างงานของประเทศไทยจะแก้ปัญหาระยะยาวได้”

ในอีกมุมสินค้าจากประเทศจีนที่เข้ามาไทยจำนวนมาก ในส่วนของ SCG เองมีความกังวลด้านผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ราคาถูก โดยเฉพาะ Polypropylene (PP) ซึ่งได้วัตถุดิบราคาถูกจากรัสเซีย ซึ่งตลอดปีที่ผ่านมา SCG ได้ปรับตัวหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องของการนำเสนอสินค้าต่างๆ ล่าสุดในปีนี้สามารถขายปูนคาร์บอนต่ำให้สหรัฐกว่า 1.3 ล้านตันแล้ว

พร้อมเปิดบ้านเป็นพี่เลี้ยงติวเข้ม"เอสเอ็มอี"ไทย

SCG มีโปรแกรม Go Together โดยเปิดบ้านช่วยให้ความรู้แก่เอสเอ็มอี นำเสนอเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพสินค้าว่าจะลดต้นทุน พัฒนาธุรกิจเพื่อให้ผ่าน Audit ของสหรัฐ ทั้ง มาตรฐานแรงงาน การใช้พลังงานสะอาดลดต้นทุน เรามีหลายโปรเจค อีกทั้ง มาตรการปรับขึ้นค่าแรงก็จะเข้ามาผลกระทบต่อต้นทุนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้เรื่อย ๆ การใช้หุ่นยนต์ให้เหมาะกับระดับแรงงานจะต้องเข้ามาเสริม รวมถึงการนำเทคโนโลยี และ AI มาใช้ให้เหมาะกับงาน เป็นต้น”

"กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบข้อมูลบริษัทที่ SCG จะยกเลิกกิจการเพราะไม่ทำกำไร โดย บริษัท เอสซีจี เอ็กซ์เพรส จำกัด แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จดทะเบียนวันที่ 22 ก.ย.2559 ทุนจดทะเบียน 1,463 ล้านบาท 

สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการให้บริการขนส่งพัสดุด่วนทั้งแบบทั่วไปและพัสดุประเภทอาหารที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ เพื่อตอบโจทย์ขยายธุรกิจลูกค้าในตลาด E-Commerce รวมทั้งบริการของลูกค้ากลุ่มธุรกิจ B2B (ธุรกิจถึงธุรกิจ) B2C (ธุรกิจถึงลูกค้าผู้บริโภค) และ C2C (ผู้บริโภคถึงผู้บริโภค) พัสดุ B2C และการให้บริการตัวแทนจุดพัสดุมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2567

ส่วนบริษัท Oitolabs Technologies Private Limited จำกัด (OITOLABS) ประเทศอินเดีย ที่บริษัทเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG CBM) เข้าไปถือหุ้น 100% ได้เข้าไปซื้หุ้นในปี 2563 จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ของ SCG CBM โดยประเมินว่าจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การลงทุนดังกล่าวมีมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ หรือ 62.4 ล้านบาท โดย OITOLABS เชี่ยวชาญการพัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ ซึ่งมีบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ digital platform development ที่ SCG CBM นำมาพัฒนาธุรกิจยุคดิจิทัลได้รวดเร็ว และตอบโจทย์แผนกลยุทธ์ของ SCG CBM ในการขยายธุรกิจค้าปลีกช่องทางออนไลน์และออฟไลน์สำหรับลูกค้าในอาเซียน