'ส.อ.ท.' ชี้ 'นิสสัน-ฮอนด้า' ควบรวม แตกไลน์ผลิตอีวี ดันเศรษฐกิจจ้างงานเพิ่ม
“ส.อ.ท.” เผยข่าวการควบรวมกิจการของ “นิสสัน-ฮอนด้า” เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย อาจเกิดไลน์การผลิตรถอีวีเพิ่มขึ้น มองไม่กระทบภาคแรงงาน ขอรอดูการแถลงทิศทางธุรกิจของทั้ง 2 ค่ายญี่ปุ่นอีกครั้ง
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากกรณณีที่สำนักข่าวลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า Nissan และ Honda ว่ากำลังพิจารณาการ “ควบรวมกิจการระหว่างกัน” เพื่อรับมือกับความท้าทายการแข่งขันทั่วโลก และอาจกลายเป็นค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่สามารถแข่งขันกับโตโยต้า มอเตอร์ ในญี่ปุ่นได้นั้น
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มองว่าน่าจะเป็นเรื่องดีกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จากการผนึกกำลังกันภายใต้รูปแบบการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง และจะลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) นั้น ก็จะยังมีแบรนด์รถของทั้ง 2 แบรนด์นี้อยู่ และถ้ารวมกันเป็น 3 ค่ายรถญี่ปุ่นที่รวมกับ Mitsubishi ซึ่งนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 24% แล้วก็มีโอกาสเป็นที่ 3 ของโลกได้
"ทั้ง 2 แบรนด์มีโรงงานของตัวเองในประเทศไทย และมีกำลังการผลิตของแต่ละแบรนด์อยู่แล้วที่จะผลิตแบรนด์รถของตนเอง แต่จะมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในหลายเรื่อง แต่การร่วมมือครั้งนี้ หากดูรายละเอียดขจองข่าวเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพื่อสู้ตลาดตามเทรนด์โลกมากกว่า"
อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตในประเทศไทยส่วนตัวยังมองว่าคงจะไม่ได้ถึงกับต้องยุบรวมโรงงาน เพราะแต่ละโรงงานมีกำลังการผลิตที่ทำยอดตามเป้าหมาย ต่อไปก็ต้องดูยอดของการผลิตแต่ละแบรนด์อีกครั้งว่าจะมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยอมรับว่าจะให้บอกตอนนี้ก็จะเร็วจนเกินไปที่จะพูด เพราะยังไม่เห็นแผนธุรกิจที่ชัดเจนมากกว่านี้
"ในมุมการได้เปรียบของประเทศไทย จะเกิดการลงทุนหากมองในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อาจจะมีสายการผลิตรถอีวีเพิ่มมากขึ้น จะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม เท่าที่ฟังยังไม่มีความชัดเจน อาจจะต้องรอดูแผนธุรกิจอีกครั้ง"
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้จะแถลงยอดผลิตรถเดือนพ.ย. 2567 วันที่ 24 ธ.ค. 2567 จากล่าสุดได้ลดประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2567 ลงอีก 200,000 คัน จาก 1.7 ล้านคัน เหลือ 1.5 ล้านคัน โดยปรับลดผลิตขายในประเทศจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1.15 ล้านคัน เป็น 1.05 ล้านคัน
ทั้งนี้ ได้ลดยอดผลิตเป็นครั้งที่ 2 จากรอบแรกปรับไป 200,000 คัน เท่ากับปีนี้ลดลงถึง 400,000 คัน คิดเป็นมูลค่า 240,000 ล้านบาท จากเป้าหมายแรกตั้งแต่ต้นปีตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน เพราะยอดขายในประเทศลดลงจากการเข้มงวดให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ซึ่งยอดการผลิตดังกล่าวต่ำสุดใน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 1.6 ล้านคัน
นอกจากนี้ การส่งออกลดลงทุกตลาดจากผลกระทบสงครามอิสราเอลกับฮามาสที่อาจกระทบส่งออกตลาดดังกล่าว โดยต้องจับตาตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและยุโรปเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องติดตามผลกระทบเศรษฐกิจโลกจากสงครามยูเครนกับรัสเซีย ที่อาจขยายประเทศอื่น ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์รถยนต์ไทยค่อนข้างสาหัส
“ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่ลดลงมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259.330 ล้านบาท ในเดือน ก.ค.2567 ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาส 2 ปีนี้ แค่ 2.3% และคาดว่า 2567 จะเติบโตแค่ 2.7-2.8%”