น้ำท่วม ฝนแล้ง ทำจีดีพีเกษตร ติดลบ 1.1% ลุ้นปี 68 โต2.8%
สศก. เผย จีดีพีภาคการเกษตร ปี 67 ติดลบ1.1 % จากภาวะแล้งต้นปี น้ำท่วมปลายปี ขณะ “นฤมล”ดันยกระดับสินค้าเพิ่มรายได้เกษตรกร ตัดราคาพ่อค้าคนกลาง หวัง ปี68 จีดีพีเกษตรโต 2.8 %
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ในเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 Unbox and Unlock Thai Agriculture ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาสพร้อม ว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรกว่า 147 ล้านไร่ หรือกว่า 46 % ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคการเกษตรกว่า 30 ล้านคน ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.58 %ของจีดีพีทั้งประเทศ ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว ที่มีสัดส่วนกว่า 11 % เนื่องจากมีบางส่วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม แต่หากมองภาพรวมแล้วภาคการเกษตรจะมีส่วนในการเติบโตของจีดีพีในภาพรวมถึง 30 % แม้ว่าสัดส่วนของภาคเกษตรจะลดลง แต่มูลค่าจีดีพีภาคเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาทจาก 10 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ภาคเกษตรไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฏด้านการค้าและ การลงทุนของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแนวทางในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ด้วยดําเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล บริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุน และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง พร้อมมุ่งเน้นการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของเศรษฐกิจแบบ BCG เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งส่งเสริมและยกระดับเกษตรกรให้ผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง รวมถึงการพัฒนา เครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตร เพื่อใช้วิเคราะห์ และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทําการเกษตร นอกจากนี้การปรับปรุงกฎระเบียบและการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้า เพื่อพัฒนาเกษตรกรและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรของไทยให้ทันต่อสถานการณ์
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ จีดีพีภาคเกษตรไทยในปี2567 การหดตัว 1.1 %เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัว ขณะที่สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและอุทกภัย
แต่แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.8 – 2.8 % เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำเกษตร ซึ่งจะทำให้สินค้าทางเกษตรโดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชมีผลผลิตที่มาก และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด รวมทั้งในปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมการค้าระหว่างประเทศของหลายประเทศคู่ค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจัยของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภัยพิบัติทางธรรมชาติ คาดว่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่สามารถส่งออกสินค้าการเกษตรได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับรายละเอียดของจีดีพีภาคการเกษตร พบว่า ในสาขาพืช หดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด เกษตรกรบางส่วนงดหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชบางชนิด และการเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก เกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย พืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ทุเรียน และเงาะ อย่างไรตาม พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ทำให้สินค้าปศุสัตว์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อ สำหรับสินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง คือ น้ำนมดิบ
สาขาประมง หดตัวร้อยละ 2.8 โดยผลผลิตกุ้งลดลง เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ และต้นทุนการผลิตหลักทั้งค่าอาหารสัตว์และค่าพลังงานอยู่ในระดับสูง ประกอบกับความต้องการซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับลดการเพาะเลี้ยงและชะลอการปล่อยลูกกุ้ง ขณะที่สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพอากาศ ที่แปรปรวน และพายุฝนที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการเรือประมงลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ ส่วนผลผลิตปลานิลและปลาดุก ลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารปลายังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรลดรอบการเลี้ยงและพื้นที่เลี้ยง รวมทั้งลดปริมาณการปล่อยลูกพันธุ์ปลา
สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.5 เนื่องจากผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567 ทำให้อากาศร้อนจัดและมีปริมาณฝนน้อย ส่งผลให้น้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ประกอบกับการเข้าสู่สภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มี ฝนตกหนักและเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง โดยเฉพาะข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ขณะที่ญี่ปุ่นยังมีความต้องการใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับการผลิตไฟฟ้า ส่วนรังนก ยังมีความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ถ่านไม้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม ไม้ยางพาราลดลงตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย ประกอบกับราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการตัดโค่นไม้ยางพาราลดลง และผลผลิตครั่งลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและร้อนจัด