‘คุณสู้ เราช่วย’ ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว

‘คุณสู้ เราช่วย’ ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว

การเงินยั่งยืนเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติใส่ใจมาโดยตลอดนะคะ และได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการช่วยเหลือแบบปูพรมในช่วงโควิด และต่อมาปรับเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุด ส่วนในปีนี้ นับแต่ต้นปีมีมาตรการ Responsible Lending หรือ RL เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร

เมื่อ 11 ธ.ค.2567 แบงก์ชาติร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ออกมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ภายใต้โครงการดีๆ ที่ชื่อว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”

“คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วยมาตรการอะไร 

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน 

มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์”: ลดค่างวดและดอกเบี้ย 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายระหว่างเข้ามาตรการจะนำไปตัดเงินต้นได้ทั้งหมด

คุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์

(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้

o สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท

o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท

o สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท

o สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท

o กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ (ยกเว้น ธอส.) ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด

(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567

(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ต.ค.2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน

(3.2) เคยปรับโครงสร้างหนี้ (ปรับหนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 จากการค้างชำระเกิน 30 วัน)

แต่ปัจจุบัน ต้องไม่ค้างชำระหรือค้างไม่เกิน 30 วัน

เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์”

(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม

(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ

(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ได้ เช่น หากลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ

(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่

ประโยชน์ 3 ต่อ จากการเข้าร่วมและทำตามเงื่อนไขมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์”

ต่อที่ 1 ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของลูกหนี้ จากการลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ

ต่อที่ 2  ลดภาระดอกเบี้ย โดยมีการพักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ

ต่อที่ 3 ค่างวดที่จ่ายระหว่างเข้าร่วมมาตรการจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ทำให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น 

มาตรการ “จ่าย ปิด จบ”: ปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็ว

คุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการ “จ่าย ปิด จบ”

(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดาของสินเชื่อทุกประเภท (ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน) ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ต.ค.2567

(2) มียอดหนี้คงค้าง (รวมดอกเบี้ย) ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี) 

ในช่วงเริ่มต้นของโครงการนี้ จะครอบคลุมลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ที่เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ส่วนในระยะต่อไปผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น

ลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” สามารถศึกษารายละเอียดของมาตรการและสมัครเข้าร่วมได้ที่ www.bot.or.th/khunsoo ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2567 ถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 ทั้งนี้ ลูกหนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ BOT contact center ของ ธปท. โทร 1213 หรือ call center ของสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการและกดเบอร์ต่อ 99

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่เฉพาะแบงก์ชาติ แต่รวมถึงภาครัฐ ผู้ให้บริการทางการเงิน และที่สำคัญคือ ลูกหนี้ ค่ะ ผู้เขียนขอส่งกำลังใจให้ลูกหนี้ตามคุณสมบัติสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข เพื่อประโยชน์ต่อลูกหนี้ในการ “ปิดหนี้ได้ไวไปต่อได้เร็ว” กันนะคะ

*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด