เทรนด์ธุรกิจปิโตรเลียมปี68 ดีมานด์ทรงตัวสวนทางซัพพลายเพิ่ม
ทริสเรทติ้ง เผยแพร่ผลวิจัย ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและค้าปลีก(Industry Research ofOil Refinery and Retailer) โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยจะลดลงมาอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2568 จาก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2567
จากปัจจัยอุปสงค์ชะลอตัว อันเนื่องมาจาก เศรษฐกิจจีนที่ยังคงอ่อนตัว ปัจจัย ผลกระทบจากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันเครื่องบินในสัดส่วน 2% ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 ในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้
ขณะเดียวกันปัจจัย อุปทานเพิ่มขึ้น จากการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่เพิ่มขึ้น, กลุ่ม OPEC+ (กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 23 ประเทศ)อาจลดการควบคุมการผลิตลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเพิ่มขึ้น, นโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมัน
สำหรับการบริโภคปิโตรเลียมในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 การบริโภคปิโตรเลียมในประเทศไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ในการใช้เชื้อเพลิงลดลงในภาคการผลิตและการส่งออก และปัจจัยกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดในอุตสาหกรรมการเดินเรือยังเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้อุปสงค์ในการใช้น้ำมันเตาลดลงอีกด้วย
ส่วนแนวโน้มปี 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งคาดว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ภายใน 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในการใช้เชื้อเพลิงในธุรกิจภาคการบินและการขนส่ง และ การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนยังคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการบริโภคปิโตรเลียมในภาคการผลิตและการก่อสร้างอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำมันยังคงมีการแข่งขันที่อยูในระดับสูง โดยอ้างอิงได้จาก ในเดือนก.ย. 2566 บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) ได้ซื้อกิจการของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ESSO) ส่งผลให้ BCP ก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองทั้งในธุรกิจการกลั่นและค้าปลีกซึ่งช่วยลดช่องว่างของสัดส่วนทางการตลาดระหว่าง BCP กับผู้นำตลาด และยังก่อให้เกิดการผสานพลังทางธุรกิจที่ช่วยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต้นทุน ซึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความท้าทายให้แก่บรรยากาศการแข่งขันในตลาดเนื่องจากผู้ค้าปลีกทั้งหลายต่างมุ่งที่จะเพิ่มยอดขายของตนเอง
ในระยะยาว ผู้ผลิตน้ำมันภายในประเทศยังจะแข่งขันกันมากยิ่งขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขยายกำลังการผลิตของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) ในปี 2571 ซึ่งจะมีสัดส่วนคิดเป็น 11% ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวเมื่อผนวกกับการเติบโตของอุปสงค์ที่ช้ากว่าก็อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาขายส่งน้ำมันในประเทศไทยได้
ส่วนสถานการณ์ค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์เป็นค่าเปรียบเทียบที่ใช้ในภูมิภาค และมีผลต่อค่าการกลั่นในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาค่าการกลั่นในสิงคโปร์ลดลงต่ำกว่า 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์เชื้อเพลิงที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดโรงกลั่นใหม่ในประเทศไนจีเรียและจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
“แม้ว่าค่าการกลั่นมีแนวโน้มฟื้นตัวชั่วคราวในช่วงฤดูหนาว แต่การเปิดตัวโรงกลั่นใหม่ในหลายภูมิภาคทั่วโลกจะยังสร้างแรงกดดันต่อค่าการกลั่นอย่างต่อเนื่องต่อไปในปี 2568”
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 อัตรากำไรขายปลีกน้ำมันโดยเฉลี่ยยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยรัฐบาลได้กำหนดเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาภาระต้นทุนด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อกำไรจากการขายปลีกน้ำมันดีเซล โดยผู้ค้าปลีกที่มีการขายน้ำมันดีเซลในสัดส่วนสูงจะได้รับผลกระทบที่มากกว่า
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการขายปลีกน้ำมันดีเซลจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 แม้ว่าการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบอาจช่วยลดต้นทุนและช่วยให้ส่วนต่างระหว่างต้นทุนกับเพดานราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจมีนโยบายเพิ่มการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 รายได้รวมและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทในกลุ่มปิโตรเลียมที่ได้รับการจัดอันดับโดยทริสเรทติ้งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ในปี 2567 จะทรงตัวจากปีก่อนหน้าอันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ระดับหนี้สินทางการเงินของทั้งโรงกลั่นและผู้ค้าปลีกคาดว่าจะยังคงทรงตัวเพื่อใช้ในการลงทุนอย่างต่อเนื่องในธุรกิจปิโตรเลียมและเพื่อสนับสนุนความพยายามในการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่น ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินของผู้ประกอบการในกลุ่มโรงกลั่นที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 นั้นจะเป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น
ในทางกลับกันกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) รวมของบริษัทในกลุ่มปิโตรเลียมดังกล่าวลดต่ำลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ แม้ว่าทริสเรทติ้งได้มีการคาดการณ์ผลกระทบจากการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันที่มีต่อความสามารถในการทำกำไรของโรงกลั่นเอาไว้แล้ว แต่ค่าการกลั่นกลับลดลงเร็วกว่าที่ประมาณการณ์ไว้
ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของผู้ค้าปลีกเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่มีนัยสำคัญจากการแข่งขันที่รุนแรงโดยผู้ค้าปลีกรายหนึ่งได้รับผลกระทบจากการขาดทุนในธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (Quick-service Restaurant Business) ซึ่งทริสเรทติ้งสังเกตถึงความพยายามของบริษัทในกลุ่มปิโตรเลียมที่ขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำไรให้มากขึ้นและเสริมความมั่นคงของผลกำไร