สภาพัฒน์ คาด ทรัมป์ เร่งกีดกันการค้า งัด ‘executive order’ ตั้งกำแพงภาษีเพิ่ม
“สภาพัฒน์” รอประเมินสถานการณ์นโยบายทรัมป์ คาดหลังรับตำแหน่งใช้ executive order หลายคำสั่งทันที ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน และคู่ค้าส่งผลกระทบไทย
KEY
POINTS
- “สภาพัฒน์” จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
- คาดเร่งเดินหน้านโยบายกีดกันการค้า หลังรับตำแหน่งใช้ executive order หลายคำสั่งทันที
- มองนโยบายขยับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน และคู่ค้า ส่งผลกระทบภาคส่งออกไทย
- พร้อมจับตา 3 พื้นที่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลก
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% และ 2.8% ตามลำดับ ขณะที่การอุปโภครัฐบาล และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัว 2.1% และ 6.5% ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 2.6% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3-1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
สำหรับเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 โดยจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.2568
สศช.ได้มีการประเมินถึงความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนทั้งต่อจีนและประเทศคู่ค้าอื่นๆ
รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของ ห่วงโซ่การผลิตโลก และทิศทางการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอื่นที่สำคัญ ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง อาทิ มาตรการทางด้านภาษี และมาตรการด้านแรงงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะส่งผล โดยตรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อความผันผวนของตลาดการเงิน และเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงผลกระทบของนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะกระทบกับเศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจไทยว่าขณะนี้ สศช.กำลังรอ
ชัดเจนหลังจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 ม.ค.2568 ว่าจะมีการประกาศนโยบายเร่งด่วนอะไรออกมาบ้าง
รวมทั้งจะมีมาตรการในการอะไรที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการทางภาษี ที่เป็นกำแพงภาษีออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 60% รวมทั้งประเทศอื่นๆที่ระบุว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 10% ต้องดูว่าในส่วนนี้จะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ทั้งนี้คาดว่าในการดำเนินการในเรื่องนี้ทรัมป์จะใช้อำนาจของประธานาธิบดี (Executive Order) ในการประกาศใช้ข้อบังคับต่างๆที่เป็นอำนาจโดยตรงของประธานาธิบดีมาใช้ในเรื่องนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเร่งสร้างผลงานตามที่ได้มีการแถลงไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกทำให้การค้าโลกหดตัวและส่งผลกระทบกับภาคส่งออกของไทยด้วย
“การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของทรัมป์อีกครั้งในช่วงต้นปีหน้าก็เป็นไปได้ว่า จะมีการเอามาตรการขึ้นมาบังคับใช้ได้เลยเพราะมีข้อมูลที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เศรษฐกิจ และการค้าโลกชะลอตัว" นายดนุชา กล่าว
ทั้งนี้จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลต่อการค้า และอัตราแลกเปลี่ยน สศช.แนะนำให้ผู้ส่งออก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราค่าเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงธุรกิจเอาไว้ด้วย”
นอกจากนี้ สศช.ได้รวบรวมนโยบาย ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สมัยที่ 1 (2560-2563) โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.นโยบายที่ถูกยกเลิกหลังจากนายโจ ไบเดน มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เช่น การห้ามประเทศมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐ
2.นโยบายที่ถูกยกเลิก และประกาศคำสั่งใหม่ เช่น การลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่สหรัฐรับเข้าประเทศต่อปี การลดกฎระเบียบเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
3.นโยบายที่มีการดำเนินการต่อแต่ปรับรายละเอียด เช่น Buy American, Hire American , การลดให้วีซ่าทำงานชาวต่างชาติ , การสืบสวนการค้าของจีนภายใต้ ม.301 พ.ร.บ.การค้า , การเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียม ,การห้ามลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกองทัพจีน
4.นโยบายที่ยังมีการบังคับใช้ เช่น การเพิกถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงภายใต้กฎหมายใหม่ของจีนป้องกันภัยไซเบอร์ยกระดับระบบสารสนเทศรัฐ
ในขณะที่แนวนโยบายของทรัมป์ ในการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ซึ่งมีการหาเสียงหรือมีการเตรียมก่อนเข้ารับตำแหน่งมี 5 ด้าน ประกอบด้วย
1.นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% ประเทศอื่น 12-20% รวมถึงการถอนตัวจาก Indo-Pacific Economic Framework
2.นโยบายด้านภาษี เช่น การบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลถาวร รวมถึงการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20-21% เป็น 15%
3.นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาด โดยจะสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมมลพิษ และการถอนตัวจาก Paris Agreement
4.นโยบายการเมืองระหว่างประเทศ โดยจะไม่สนับสนุนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) รวมถึงการยกเลิกการช่วยเหลือยูเครน และการเพิ่มมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจอิหร่าน
5.นโยบายแรงงานผู้อพยพ โดยจะเพิ่มความเข้มงวดจ้างงานชาวต่างชาติ รวมถึงการงดให้สัญชาติอเมริกันกับเด็กที่เกิดในสหรัฐแต่บุพการีไม่มีใบแจ้งอพยพ
นอกจากนี้ ในปี 2568 ปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งที่มีอยู่ในหลายภูมิภาค เป็นปัจจัยที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องให้ความสนใจเนื่องจากถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องมีการติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2568 สมรภูมิ และคู่ขัดแย้งที่ต้องจับตา ดังนี้
1.ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย นายบาชาร์อัล-อัสซาด ถูกโค่นล้มจากตำแหน่งประธานาธิบดีของซีเรีย และหนีไปอยู่ต่างประเทศ
2.ความขัดแย้งระหว่างจีน และไต้หวัน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น และถือว่าเป็นประเด็นใหญ่ในพื้นที่บริเวณนี้ กรณีที่เกิดปัญหาระหว่างกัน และเกิดความตึงเครียดมากขึ้น ก็จะกระทบกับบรรยากาศการค้าโลก
ทั้งนี้ อาจเกิดการขาดแคลนชิปเนื่องจากไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปรายสำคัญของโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิป และกระทบกับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งรถยนต์ที่ปัจจุบันต้องใช้ชิปมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตด้วย
3.ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายได้มากขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ต้องจับตา ว่าก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหมดวาระลงจะมีการส่งมอบอาวุธอะไรให้ยูเครนสู้กับรัสเซีย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์