ปฐมบททรัมป์ 2.0 ป่วนโลก -ไทย เอกชน ขอรัฐตั้งวอร์รูมเฉพาะกิจรับมือ

10 นโยบายทรัมป์ สะเทือนค้าโลก สนค. เปิดลิสต์ 29 กลุ่มสินค้าไทยเสี่ยงโดน”ทรัมป์ ”ขึ้นภาษี เหตุเกินดุลการค้าสหรัฐต่อเนื่อง 5 ปี ภาคเอกชน แนะรัฐบาลรับมือสงครามการค้า
KEY
POINTS
- 10 นโยบายสำคัญที่”ทรัมป์”ประกาศหลังร
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตาม และประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ต่อการค้าโลก และไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ทั้งการประกาศนโยบายการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีน แคนาดา เม็กซิโก และประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก การปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ตลอดจนการดึงการลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อสร้างการจ้างงานภายในประเทศ
โดยในวันที่ 20 ม.ค. 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวสุนทรพจน์และประกาศนโยบายที่ครอบคลุม 10 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1. ผลักดันสหรัฐอเมริกา สู่ยุคทอง ฟื้นฟูสหรัฐอเมริกาให้กลับมารุ่งเรือง เป็นที่หนึ่งในทุกด้าน โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและศักดิ์ศรีบนเวทีโลก
2. ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของรัฐบาล ปรับปรุงระบบการปกครองให้มีความยุติธรรมและซื่อสัตย์ ยุติการใช้อำนาจของรัฐบาลในการเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม พร้อมทั้งปรับปรุงและแก้ไขปัญหาในด้านบริการสาธารณะ เช่น การจัดการภัยพิบัติและระบบสุขภาพ
3. ส่งเสริมเศรษฐกิจพลังงาน สนับสนุนการผลิตพลังงานในประเทศ และยกเลิกนโยบาย GreenNew Deal และข้อบังคับยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
ทั้งนี้ นโยบาย Green New Deal เป็นมาตรการที่รับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างงานที่ยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และการสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4. จัดการด้านความมั่นคงและชายแดน ยุติการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายและส่งคืนผู้กระทำผิดชาวต่างชาติกลับประเทศต้นทางเพื่อลดอาชญากรรม พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยทางชายแดนโดยประกาศภาวะฉุกเฉินที่ชายแดนทางตอนใต้ และตั้งทหารประจำชายแดน
5. ปฏิรูปกองทัพและการศึกษา ฟื้นฟูกองทัพและสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมคืนสถานะทางทหารและจ่ายเงินชดเชยให้กับทหารที่ถูกปลดจากการที่คัดค้านการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขณะที่ด้านการศึกษาจะยุติการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการกำหนดเชื้อชาติและเพศในทุกด้านของชีวิตสาธารณะและเอกชน เราจะสร้างสังคมที่ไม่สนใจสีผิวและเป็นสังคมที่ยึดตามหลักความสามารถ
6. สร้างความสามัคคีและสันติภาพ สร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ และมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำการสร้างสันติภาพโลก โดยมุ่งเน้นการยุติสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง
7. ปฏิรูประบบการค้าและการเก็บรายได้ วางแผนจัดตั้งหน่วยงาน External Revenue Serviceเพื่อจัดเก็บรายได้ภาษีจากการนำเข้า เช่น ภาษีศุลกากร พร้อมส่งเสริมนโยบายการค้าที่เพิ่มความมั่งคั่งให้ประชาชน
8. วิสัยทัศน์ระยะยาวและเป้าหมายแห่งอนาคต สหรัฐอเมริกาจะกลับมามองตนเองเป็นประเทศที่กำลังเติบโต ซึ่งต้องเพิ่มความมั่งคั่ง สร้างเมือง และขยายอาณาเขต ผ่านการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิต
ภายในประเทศและอุตสาหกรรมอวกาศ โดยตั้งเป้าส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคาร พร้อมเน้นย้ำการสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกา ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงพลังที่สุด และได้รับความเคารพมากที่สุดในโลก
9. คำมั่นสัญญาต่อประชาชน แสดงความขอบคุณต่อผู้สนับสนุนจากทุกเชื้อชาติและทุกวัย สร้างความหวังให้คนรุ่นใหม่ พร้อมให้คำมั่นว่า ความฝันแบบอเมริกันจะกลับมา และเจริญรุ่งเรืองเหมือนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
10. แสดงจุดยืนส่วนตัว กล่าวถึงความท้าทายในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และการถูกลอบสังหาร พร้อมประกาศความมุ่งมั่นที่จะทำให้สหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่กว่าที่เคยและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่
ทั้งนี้สนค.ประเมินว่า กลุ่มสินค้าไทย ที่มีความเสี่ยงอาจถูกสหรัฐฯ พิจารณาใช้มาตรการทางภาษีมีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากพบสถิติการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 61-66) ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์มือถือ, ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง (โซลาร์เซลล์), ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่, หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่, เครื่องปรับอากาศ
เครื่องพิมพ์ที่ป้อนกระดาษเป็นม้วน เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และส่วนประกอบของของดังกล่าว ,เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งมีหน้าที่การทำงานเป็นเอกเทศ
ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง , เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน , เทป อุปกรณ์หน่วยเก็บความจำแบบไม่ลบเลือกชนิดโซลิด-สเตท สมาร์ทการ์ดสื่ออื่นๆ สำหรับการบันทึกเสียง ,ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ , หลอดหรือท่อทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ,แป้น แผง คอนโซล ที่ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า
กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่ของ ทำด้วยหนัง , เครื่องประทีปโคมไฟ สปอร์ตไลต์ และส่วนประกอบ , น้ำผลไม้และน้ำพืชผัก , แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม และแถบชนิดอื่นทำด้วยพลาสติก , รถจักรยานสามล้อ สกุตเตอร์ รถยนต์ที่ใช้เท้าถีบ และของเล่นที่มีล้อ
เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญา , อุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับบังคับหรือควบคุมโดยอัตโนมัติ , ไม้อัดพลายวูด ไม้อัดวีเนียร์ และลามิเต็ดวูดที่คล้ายกัน , ขนมที่ทำจากน้ำตาล (รวมถึงช็อกโกแลตขาว ) ที่ไม่มีโกโก้ผสม
เนื้อปลาแบบฟิลเล และเนื้อปลาแบบอื่น (จะบดหรือไม่ก็ตาม )สด แช่เย็น หรือแช่แข็ง , พืชผักอื่นๆ(ไม่รวมมะเขือเทศ เห็ดชนิดมัชรูมและชนิดทรัฟเฟิล) ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสียโดยวิธีอื่น , แผ่น แท่ง ปลาย และของที่คล้ายกัน ทำด้วยเซอร์เมต ที่ใช้กับเครื่องมือแต่ยังไม่ได้ประกอบติดกับเครื่องมือ
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผอ.สนค.กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนราว 18% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยปี 2567 มีมูลค่า 54,956.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้า สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของไทย มีสัดส่วนราว 6% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หรือมีมูลค่า 19,528.6 ล้านดอลลาร์
โดยรวมไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 35,427.6 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะออกมาให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งคณะผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (The United States Trade Representative) หรือ USTR เรียบร้อย
ด้านมุมมองภาคเอกชนมองนโยบายการค้าของสหรัฐ โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ไทยยังไม่ใช่ประเทศหลักที่ถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐ แต่หอการค้าไทยมองว่านโยบายทางภาษีสหรัฐจะมีส่วนกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งคงต้องประเมินตัวเลขอีกครั้งหลังจากมีความชัดเจนของมาตรการต่าง ๆ ที่ทรัมป์น่าจะประกาศออกมาหลังวันที่ 1 เม.ย.
พร้อมกันนี้ต้องตั้ง TEAM THAILAND+ ที่เป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเร่งศึกษาผลกระทบของไทยต่อนโยบายสหรัฐฯ ในทุก Sector
ขณะที่นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) จี้ พาณิชย์เร่งหารือร่วมกับภาคเอกชน และควรมีการตั้ง “วอร์รูมเฉพาะนโยบายทรัมป์ 2.0” ให้เร็วที่สุด และเรียกประชุมทันที โดยมองว่าขณะนี้ เหลือเวลาไม่มากแล้วในการเตรียมความพร้อมของไทยในการรับมือ เพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมาย หากเราไม่ทำอะไรหรือล่าช้า ไปถึงเดือนเม.ย.ที่น่าจะถึงคิวที่ไทยจะโดยขึ้นภาษี ความผลกระทบที่ตามมาจะมหาศาล