รัฐบาลบูมเศรษฐกิจ 'อีสานใต้' ตั้งรองผู้ว่าฯดูแลปากท้องประชาชน

รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานใต้ 8 จังหวัด รับข้อเสนอภาคเอกชน ดันเกษตรแนวใหม่ ท่องเที่ยว และการค้าชายแดน ตั้ง "รองผู้ว่าฯ ด้านเศรษฐกิจ" ดูแลปากท้องประชาชน
KEY
POINTS
- รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานใต้ 8 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และชัยภูมิ
- รับข้อเสนอภาคเอ
พื้นที่อีสานใต้ซึ่งประกอบไปด้วย 8 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และชัยภูมิ) มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในหลายด้าน เช่น การเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เป็นพื้นที่พัฒนาเกษตรแปรรูป และเกษตรอินทรีย์ ประกอบกับมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เป็นประตูสู่การค้าชายแดน มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
จากความสำคัญของพื้นที่อีสานใต้ทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องที่กระทรวงมหาดไทยจะใช้โมเดลในการสร้างการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนทั้งรัฐบาล เอกชน ประชาชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันผลักดันพื้นที่นี้ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้ในแต่ละจังหวัดให้มากขึ้น
ตั้งรองผู้ว่าฯด้านเศรษฐกิจดูแลปากท้องประชาชน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อร่วมงาน "E-SAN Life Drive" ว่ากระทรวงมหาดไทยนั้นมีกลไกในระดับพื้นที่ลงไปถึงในระดับชุมชน ชาวบ้าน การทำงานต้องให้ความสำคัญกับการดูแลปากท้องประชาชน โดยได้มอบนโยบายแล้วว่าจะให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจัดหวัดจังหวัดละ 1 คนให้เป็น “รองผู้ว่าฯด้านเศรษฐกิจ” มาดูแลปากท้องของประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยมีตัวชี้วัดเป็นความกินดี อยู่ดี ของประชาชนในจังหวัด และเงินสะพัดในพื้นที่ รวมทั้งตัวเลขจีดีพีจังหวัดที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นายอนุทินได้กล่าวในระหว่างการปาฐกถาในหัวข้อ "การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง" และรับฟังข้อเสนอการพัฒนาจากภาคเอกชนใน 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างว่าตามกรอบแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2566-2570 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาภูมิภาคนี้สู่การเป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 3 มิติหลัก ได้แก่:
Green - การเป็นฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green economy) รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
Gate - การเป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ใช้โอกาสจากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน ระเบียงเศรษฐกิจ พัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์
และ Growth - การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เกษตรแนวใหม่เพิ่มมูลค่า
นายอนุทิน กล่าวถึงแนวทางการทำเกษตรแนวใหม่ว่า ลองนึกถึงการทำเกษตรแนวใหม่ที่ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แน่นอนเราต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งในการเพาะปลูก ทั้งในการแปรรูป ให้ข้าว หอมแดง กระเทียม มันสำปะหลัง อ้อย และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ของเรามีมูลค่ามากขึ้นนอกจากนี้ ยังเน้นความสำคัญของการเข้าใจตลาดและระบบโลจิสติกส์
"นึกภาพต่อถึงการส่งไปขาย ตลาดในประเทศเป็นอย่างไร ตลาดต่างประเทศส่งถึงไหม ตรงนี้ก็ต้องคิดถึงระบบการขนส่ง การลำเลียง และการเปิดตลาดที่เราจะสามารถทำราคาได้ดี เรื่องความเข้าใจตลาดนี่สำคัญ"
การต่อยอดวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
รองนายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำถึงการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และภาคบริการการท่องเที่ยวในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยอ้างถึงตัวอย่างงาน "Colors of Buriram" ที่จัดขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก"
นายอนุทิน ได้ฝากผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด ให้สนับสนุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสูงสุด นำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพิ่มรายได้ ส่งเสริมภาคบริการการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

ข้อเสนอเอกชนและแนวทางการพัฒนาอีสานใต้
ในการประชุมครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้รับฟังข้อเสนอการพัฒนาพื้นที่จากภาคเอกชนทั้ง 8 จังหวัด ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงการก่อสร้างด้านคมนาคมขนส่ง การเชื่อมโยงและพัฒนาการท่องเที่ยว การจัดเทศกาลสำคัญด้านวัฒนธรรมและกีฬา การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเกษตร และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่
ตัวอย่างโครงการสำคัญที่ภาคเอกชนเสนอ เช่น จังหวัดศรีสะเกษเสนอโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกีฬาเพื่อยกระดับให้จังหวัดสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง การผลักดันสมาร์ทซิตี้ การปลดล็อกอุปสรรคด้านการลงทุน และการยกระดับเกษตร ทั้งทุเรียนและโคเนื้อครบวงจร โรงชำแหละเนื้อวัว การสนับสนุนเมืองกีฬา และจัดอีเวนต์ต่อเนื่อง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาตลอดทั้งปี
อดีต รมว.คลังเสนอแนวทางพัฒนาอีสานใต้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการกฤษฎีกา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนา 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างยังมีศักยภาพอีกมาก และนอกเหนือจากมิติทางเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญกับมิติด้านสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท รวมทั้งการรับมือกับสังคมสูงวัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังแรงงานในอนาคต
นายอาคมยังเน้นถึงโอกาสในการพัฒนาการเกษตรของจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กล้วยหอมทองและหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากและมีตลาดญี่ปุ่นรองรับ นอกจากนี้ ยังเสนอให้เตรียมความพร้อมรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร
ด้านการท่องเที่ยว นายอาคมชี้ประเด็นปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการจัดเทศกาลท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยเสนอให้นำวัฒนธรรมในพื้นที่มาจัดเป็นงานเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงกันภายในกลุ่มจังหวัด และกลุ่มจังหวัดอื่นๆด้วย
ถือเป็นการนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคอีสานใต้มาสานต่อโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีการวางกลไกในการบริหารโดยใช้กลไกระดับจังหวัด ลงไปถึงชุมชนโดยมุ่งหวังที่จะสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคนี้ สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง หากประสบความสำเร็จสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆได้