เปิดแผนแก้หนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้าน ล็อกเป้าลด NPL 8 แสนล้าน

รัฐบาลกางแผนแก้หนี้ครัวเรือน 13.6 ล้านล้าน 90.6% ของจีดีพี ลุยแก้หนี้เสีย 8 แสนล้าน “หนี้บ้าน” ยืดเวลาผ่อนนานขึ้น ส่วนสินเชื่อบุคคล - บัตรเครดิต ซื้อหนี้บางส่วน
KEY
POINTS
- รัฐบาลกางแผนแก้หนี้ครัวเรือน 13.
ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นปัญหาสำคัญฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยมายาวนาน เพราะบั่นทอนกำลังซื้อ และทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่ได้ผลเท่าที่ควร การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งมั่นแก้ปัญหา โดยพยายามทำควบคู่การแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบเศรษฐกิจให้ลดน้อยลง
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลหนี้ครัวเรือนของไทยซึ่งเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาหนี้แต่ละประเภท ซึ่งจะใช้มาตรการแบบผสมผสานหลายรูปแบบเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าเมื่อแบ่งประเภทหนี้แล้วอยู่ในเกณฑ์ที่จัดการได้ไม่น่าเป็นห่วงจนเกินไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยคิดเป็น 13.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.63% ของ GDP จากการจัดกลุ่มของหนี้ครัวเรือน และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเข้าไปแก้ปัญหาหนี้แต่ละประเภท โดยจะมุ่งไปที่การแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีสะสม 8.06 แสนล้านบาท ดังนี้
1.สินเชื่อบ้าน หนี้ในส่วนนี้มีวงเงินรวม 5,121,022 ล้านบาท เป็น NPL เพียง 236,637 ล้านบาท หรือ 4.62% ของสินเชื่อในกลุ่มนี้ทั้งหมด โดยในแนวทางการจัดการหนี้ NPL ในส่วนนี้รัฐบาลจะไม่เข้าไปช่วยซื้อหนี้
แต่จะผลักดันเสนอให้ใช้มาตรการยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ให้ยาวขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกับที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีการยืดเวลาผ่อนชำระให้ยาวนานขึ้นตามกำลังความสามารถของผู้กู้ เว้นแต่ผู้กู้ไม่มีเจตนาชำระหนี้ ก็ให้ใช้กฎหมายบังคับให้ชำระหนี้
บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลกว่า 3.2 ล้านล้าน
2.หนี้ที่เป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ซึ่งหนี้ในส่วนนี้มีวงเงินรวมกันในระบบประมาณ 3.201 ล้านล้านบาท เป็น NPL รวมกันประมาณ 3.34 แสนล้านบาท โดยหนี้ในส่วนนี้สถาบันการเงิน ได้ตั้งสำรองหรือสงสัยหนี้จะสูญไว้ครบแล้ว รัฐบาลมีแนวทางไปเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อที่จะซื้อมาบริหารจัดการต่อไป
3.หนี้รถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์ มีวงเงินรวมกันประมาณ 2.627 ล้านล้านบาท เป็น NPL ประมาณ 3.33 แสนล้านบาท โดยแนวทางในการบริหารจัดการหนี้ประเภทนี้มีภาระการติดตามหาทรัพย์ที่เป็นหลักประกันคือ รถยนต์ และการเก็บรักษา ดังนั้นรัฐไม่ควรเข้าไปซื้อหนี้รถยนต์ ในส่วนนี้เพราะจะมีปัญหาตามมากมาย
ไม่เข้าซื้อหนี้สินเชื่อหมุนเวียนเกษตรกร
4.หนี้ที่เป็นสินเชื่อหมุนเวียน ของเกษตรกร สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ หนี้ O/D เบิกเกินบัญชี โดยหนี้ในส่วนนี้มีวงเงินรวมทั้งหมดประมาณ 1.66 ล้านล้านบาท เป็น NPL อยู่ประมาณ 1.18 แสนล้านบาท โดยหนี้ในส่วนนี้รัฐบาลก็จะไม่เข้าไปซื้อหนี้เนื่องจากสัดส่วนของหนี้เสียไม่มากนักแต่ภาครัฐจะกำกับดูแลให้ธนาคารเจ้าหนี้บริหารจัดการเอง
5.เป็นหนี้ครัวเรือนซึ่งไม่ได้อยู่ในสถาบันการเงิน เช่น กู้เงินจากสหกรณ์ กู้เงินจากนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งมีวงเงินรวมกันประมาณ 1.08 แสนล้านบาท และเป็นหนี้เสียประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหนี้ส่วนนี้มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าหนี้นั้นติดตามทวงถามลูกหนี้ตามขั้นตอน โดยในส่วนนี้รัฐบาลไม่มีแผนเข้าไปรับซื้อหนี้แต่อย่างใด
ลุยดึงคนไทยออกจากเครดิตบูโร
นายพิชัย ชุณวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มแรกด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผ่อนชำระน้อยลง และยาวนานขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนี้มาลงทะเบียนไม่มากนัก ทำให้อาจจะใช้งบประมาณที่เตรียมไว้เพียงครึ่งเดียว
ส่วนในระยะต่อไปรัฐบาลเตรียมนโยบายที่จะเข้าไปซื้อหนี้เสียในส่วนที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่า 3 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 1.36 แสนล้านบาท โดยจะให้กลุ่มนี้กลายเป็นหนี้รหัสพิเศษ หลุดจากประวัติหนี้เสียในเครดิตบูโร (NCB) ทำให้สามารถกลับเข้าสู่การเงินในระบบได้
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ดำเนินโครงการนำร่อง ผ่านธนาคารออมสิน ในการออกสินเชื่อพิเศษกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน กำหนดเป้าหมาย 3 แสนบัญชี วงเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเปิดโครงการเพียง 3 วัน มีคนมาลงทะเบียนแล้วกว่า 4.5 แสนบัญชี หากควบคุม และกำกับได้ก็จะมีการขยายผลการให้สินเชื่อไปที่กลุ่มตัวเล็กได้
“จุลพันธ์” เผยใช้ AMC กลไกหลักแก้หนี้
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การรับซื้อหนี้เสียจากประชาชนจะเป็นการใช้กลไกของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีการจัดตั้ง AMC แห่งใหม่ขึ้นมา หรือเป็น AMC เดิมที่มีอยู่แล้วที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยกำลังมีการหารือกันว่าจะดึงให้ธนาคารพาณิชย์เข้าร่วม
ทั้งนี้ โจทย์ในการแก้ปัญหาหนี้กลุ่มดังกล่าวนั้นมีความท้าทายและซับซ้อนกว่าวิธีการที่รัฐบาลเคยทำตอนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งตอนนั้นเป็นการรับซื้อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ ต่างจากตอนนี้ที่เป็นการรับซื้อหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีหลายประเภทสินเชื่อ
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังขาดแรงจูงใจที่จะเข้าร่วม เนื่องจากหนี้ดังกล่าวมีการตั้งสำรองหนี้เสียไว้ทั้งหมดแล้ว ดังนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับการตั้งราคารับซื้อหนี้ที่มีความจูงใจมากพอด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์