เช็คสเปคปรับเกณฑ์EV3.5หนุนเพิ่ม มอร์ไซด์-รถใหญ่-ค่าไฟ

ประเทศไทยได้กำหนดมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพื่อทำให้มีการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
สามารถรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต และเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ในปี พ.ศ. 2573
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) เมื่อ27 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดของประเภทยานยนต์และคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมมาตรการ EV3.5 โดยให้เพิ่มเติมประเภทรถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3.5 เป็น “รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่ง ไม่เกิน 10 คน” โดยใช้หลักการเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติ จำนวนเงินอุดหนุน และการผลิตชดเชยเช่นเดียวกับรถยนต์นั่ง และให้เพิ่มเติมคุณลักษณะและคุณสมบัติสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถจักรยานยนต์
อย่างไรก็ตาม ตามข้อเสนอสำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) และเป็นรุ่นที่มีแต่ AC Charge (การชาร์จแบบกระแสสลับหรือการชาร์จกับไฟบ้าน) ที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาในประเทศภายในปี 2567 สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ ตลอดจนสามารถโอนสิทธิมายังมาตรการ EV3.5 ได้นั้น เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรื่องดังกล่าวกลับไปทบทวนความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
“ทั้งนี้ เห็นควรมอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติมประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไปและ ให้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย”
สำหรับการปรับปรุงมาตรการEV3.5 ที่ขอเสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานQuick Chargeสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแต่AC Charge
การปรับปรุงรายละเอียดของมาตรการEV3.5 ได้พิจารณาปรับปรุงรายละเอียด ดังนี้ เรื่องประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิจากกเดิมกำหนดให้เป็นรถยนต์นั่ง กำหนดปรับให้เป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ซึ่งเหตุผลในการเสนอปรับปรุง เพื่อให้รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน สามารถขอเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้โดยใช้หลักการเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติ จำนวนเงินอุดหนุน และการผลิตชดเชยเช่นเดียวกับรถยนต์นั่ง
เรื่องคุณลักษณะและคุณสมบัติ เดิมกำหนดให้มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป เปลี่ยนเป็น 1. ใช้แบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนที่มีขนาดแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ 48 โวลต์ขึ้นไป
2.ใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป หรือวิ่งได้ระยะทางตั้งแต่ 75 กิโลเมตรขึ้นไปต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ซึ่งผ่านการทดสอบตามมาตรฐานการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษในมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (World Motorcycle Test Cycle : WMTC) 3. ใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือเป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์ของสหประชาชาติ [ข้อกำหนดที่ 75(UN Regulation No. 75) oo Series หรือ Series ที่สูงกว่า] และ4. ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยานยนต์หรือได้รับ (UN Regulation No. 136) oo Series หรือ Series ที่สูงกว่า
นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินการแก้ไขหรือเพิ่มเติมประกาศที่เกี่ยวข้องได้แก่ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (รถโดยสารและรถบรรทุก): เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่มิได้เป็นสินค้าที่อยู่ในบัญชีพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเช่นเดียวกับรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะและรถจักรยานยนต์ และเป็นประเภทของรถที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเพื่อใช้เองได้ในประเทศ
“คณะกรรมการนโยบายฯ จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ (รถโดยสารและรถบรรทุก)และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) พิจารณากำหนดมาตรการดังกล่าวผ่านมาตรการของกรมสรรพากร”
โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด โดยไม่กำหนดเงื่อนไขเพดานราคาขั้นสูง และให้มาตรการนี้มีผลใช้บังคับสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568
ที่ประชุมยังกำหนดมาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงหลักเกณฑ์และอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และแนวทางการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าหรือเรือแบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)
ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนความจำเป็นเหมาะสมขององค์ประกอบ และขอบเขตหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
จึงเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ จำนวน 3 คณะ ได้แก่1.คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน2.คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และ3.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion)
ที่ประชุมยับรับทราบความคืบหน้าของการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (ณ วันที่ 31 ม.ค. 2567) ดังนี้ ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และการให้บริการระบบอัดประจุไฟฟ้ารวมเงินลงทุนทั้งสิ้น (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) 77,192 ล้านบาท
ด้านมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างตลาดในประเทศ มีผู้เข้าร่วมมาตรการ 20 บริษัท (18 แบรนด์) และมียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิรวม 90,694 คัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ