ขั้นต่อไปของการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

ขั้นต่อไปของการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

10 เม.ย.2565 รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบาย “การสร้างตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่ภายในประเทศ” นับว่าเป็นทิศทางใหม่ของรัฐบาลจีนที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงเศรษฐกิจจีน ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและความท้าทายของเศรษฐกิจภายในจีนเอง

แนวคิดการสร้างตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่นี้ นับเป็นขั้นตอนต่อไปของการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในของจีน รัฐบาลจีนมีนโยบายมาตั้งแต่สองปีที่แล้วที่จะเน้นกลับมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในมากยิ่งขึ้น แต่อุปสรรคสำคัญคือ การกีดกันกันเองระหว่างท้องถิ่นภายในจีน (Local Protectionism)

    ผลคือ แทนที่จีนจะใช้ประโยชน์จากสเกลตลาดขนาดมหึมาได้เต็มที่ กลับปรากฎว่าในหลายอุตสาหกรรม ตลาดจีนถูกซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ละมณฑลมีนโยบายกีดกันคู่แข่งจากมณฑลอื่น

 ตัวอย่างที่ขึ้นชื่อเช่น นโยบายอุดหนุนรถยนต์ EV ของมหานครเซี่ยงไฮ้นั้น สุดท้ายมีแต่บริษัทรถยนต์ของเซี่ยงไฮ้ที่เข้าเกณฑ์ได้รับการอุดหนุน บริษัทรถยนต์ EV จากพื้นที่อื่นแทบจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดรถยนต์เซี่ยงไฮ้ได้

    ในอดีต วงนโยบายจีนจะคิดถึงตลาดสามชั้นที่มีทั้งภายในและภายนอก ชั้นแรก ได้แก่ ตลาดทรัพยากรที่เน้นที่ภายนอก เช่น นำเข้าพลังงานจากรัสเซียและตะวันออกกลาง ชั้นที่สองคือ ตลาดการผลิต ที่เน้นตลาดภายในจีน ซึ่งจีนได้ชื่อว่าเป็นโรงงานโลก ส่วนชั้นที่สามคือ ตลาดผู้บริโภค ซึ่งแต่ก่อนเน้นส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป 

แต่ในยุคที่โลกผันผวนและความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ ไม่ดีดังเดิม จีนจึงต้องหันมาสร้างความเชื่อมโยงสามตลาดโดยอาศัยพลังภายในมากขึ้น ได้แก่ สร้างการหมุนเวียนแหล่งพลังงานภายในไปทั้งประเทศจีน ไม่ใช่พลังงานผลิตใช้เฉพาะภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งในจีน

และสร้างตลาดผู้บริโภคภายในประเทศที่เชื่อมโยงกันสูงขึ้น จนเป็นตลาดเดี่ยว เพื่อใช้ประโยชน์จากสเกลตลาดขนาดมหึมา 1,400 ล้านคน ภายในประเทศ ที่ตอนนี้มีหลายร้อยล้านคนได้ยกระดับขึ้นเป็นชนชั้นกลางใหม่

คำสำคัญในนโยบายนี้คือคำว่า “ใหญ่” เพราะจีนพูดชัดเจนว่าต้องเป็น “ตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่” เพื่อใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากความได้เปรียบเรื่องสเกลของประเทศจีน

    แก่นหลักของแนวคิดใหม่นี้ คือ การสร้างมาตรฐานและกฎเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศในเรื่องต่างๆ ไม่ใช่แต่ละพื้นที่แต่ละกฎเกณฑ์ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในแผนก็คือ จีนประกาศจะสร้างระบบโซเชียลเครดิตของธุรกิจ ที่ใช้เกณฑ์และมาตรฐานเดียวกันในการคิดคะแนนและเก็บข้อมูลทั้งประเทศ เพื่อใช้ในการประเมินความน่าเชื่อถือ เครดิตการเงิน และพฤติกรรมของธุรกิจ 

ขั้นต่อไปของการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

หัวข้อใหญ่ในแผนยังมีเรื่องพลังงาน โดยจะสร้างตลาดพลังงานเป็นตลาดเดี่ยวภายในประเทศจีน ส่วนหัวข้ออื่นๆ ในแผน เช่น การสร้างโครงข่ายโลจิสติกส์และโครงข่ายดิจิทัลเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ การเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตและตลาดทรัพยากร การเชื่อมโยงตลาดข้อมูลและเทคโนโลยี การเชื่อมโยงตลาดสินค้าและบริการ เป็นต้น 

บางสื่อมองว่าแนวคิดนี้จะเป็นผลดีกับบริษัทต่างชาติในจีน เพราะบริษัทต่างชาติก็ควรต้องถูกกำกับโดย มาตรฐานเดียวในการทำธุรกิจอและการลงทุนในทุกพื้นที่ในจีน ไม่ใช่แต่ละพื้นที่ต่างมีมาตรฐานและกฎเกณฑ์ต่อบริษัทต่างชาติที่แตกต่างกันจนปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างในอดีต

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์เช่นกันว่า แนวคิดนี้จะเป็นการกลับทิศทางการกระจายอำนาจและแข่งขันทางนโยบายระหว่างท้องถิ่น ซึ่งหลายคนเคยมองว่าเป็นสูตรลับความสำเร็จของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน 

ขั้นต่อไปของการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในจีน | อาร์ม ตั้งนิรันดร

แต่รัฐบาลจีนอธิบายว่า สิ่งที่ต้องการแก้ไขคือ การที่แต่ละมณฑลแข่งกันลดแลกแจกแถมแบบไม่เป็นผลดีต่อประเทศโดยรวม เช่น แข่งกันว่าใครมีกฎเกณฑ์สิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด ใครยอมให้ธุรกิจกดค่าแรงได้ต่ำที่สุด ใครมีเงินก้อนเปล่าอุดหนุนธุรกิจฟรีๆ มากกว่ากัน รัฐบาลกลางต้องการเปลี่ยนมาเป็นให้แต่ละมณฑลแข่งกันดีเด่น ภายใต้เกณฑ์พื้นฐานที่เป็นเกณ์เดียวกันทั้งประเทศ

นี่ยังเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลที่จะหาทางกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยอาศัยการคลายล็อคเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้า ธุรกิจ และแรงงานระหว่างมณฑล ซึ่งถ้าดูจากสถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาสแรกที่ 4.8% นั้น 

หากเข้าไปดูตัวเลขไส้ใน จะพบว่าตัวเลขที่ดูดียังคงเป็นตัวเลขการลงทุนและตัวเลขการส่งออก แต่ตัวเลขการบริโภคยังดูอ่อนแรง ไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลจีนฝันอยากเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกมาพึ่งพาการบริโภคภายในมากขึ้น

การประกาศนโยบาย “การสร้างตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่ภายในประเทศ” ของรัฐบาลจึงเป็นการส่งสัญญาณความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนการบริโภคและการพึ่งพาภายในให้เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยอาศัยการทลายการกีดกันระหว่างมณฑลและทำให้เกิดตลาดเดี่ยวขนาดใหญ่ขึ้นให้ได้ ต่อจากนี้ เราจะได้เห็นการออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานใหม่มากมายเพื่อใช้เป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศตามแนวคิดนี้ครับ.
คอลัมน์ มองจีนมองไทย
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร 
ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์ด้านกฎหมายและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย