ไทยกับประชาธิปไตยในเข่งหกเหลี่ยม | ไสว บุญมา
ย้อนไป 21 ปี มีปรากฏการณ์ใหม่ในด้านการเมืองของไทย กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เอื้อให้เกิดรัฐบาลใกล้อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น แต่แทนที่จะพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป
รัฐบาลนั้นกลับสร้างปัญหาสารพัดจนนำไปสู่การทำรัฐประหารโดยทหารอีกครั้ง หลังเวลาผ่านไป 5 ปี สิ่งที่รัฐบาลนั้นทำเป็นที่ถกเถียงกันมาจนกระทั่งวันนี้ว่ามีอะไรเป็นคุณหรือโทษต่อระบอบประชาธิปไตยบ้าง ผู้มองไปในทางมีโทษเป็นหลักมักเห็นว่าปัญหามาจาก 5 กระแส
เนื่องจากเค้าหน้าของผู้นำรัฐบาลในช่วงนั้นดูจะมีลักษณะเป็นเหลี่ยม จึงมีการพูดถึงเชิงกึ่งขบขันกันว่าเขาจับประชาธิปไตยของไทยขังไว้ในเข่ง 5 เหลี่ยมส่งผลให้มันไม่ได้รับการพัฒนา
ถ้าพิจารณาอย่างถ่องแท้ จะเห็นว่าทั้ง 5 กระแสนี้มิใช่มีอยู่แต่ในเมืองไทย หากมีอยู่อย่างกว้างขวางในส่วนต่าง ๆ ของโลก ซ้ำร้าย ในปัจจุบันนี้ยังมีกระแสที่ 6 ซ้อนเข้ามาอีกด้วย
กระแสแรกชื่อว่า "อัตตาธิปไตย” ซึ่งโดยทั่วไปผู้นำคนเดียวบงการทุกอย่าง ย้อนไปในช่วงเวลาที่อ้างถึงนั้น ผู้นำรัฐบาลดูจะทำอะไร ๆ ได้ตามใจตนเองเพราะการถ่วงดุลอำนาจตามหลักประชาธิปไตยกลายเป็นหมัน
การบริหารบ้านเมืองตามใจผู้นำยังมีทำกันอยู่ทั้งแบบแทบจะสัมบูรณ์เช่นในเกาหลีเหนือ และแบบที่มีความเข้มข้นลดหลั่นกันลงมาเช่นในรัสเซีย
กระแสที่สองชื่อว่า "ขโมยาธิปไตย” หรือ “โจราธิปไตย” ซึ่งโดยทั่วไปใช้การฉ้อฉลเป็นกลยุทธพื้นฐานในการเข้าสู่อำนาจและการบริหารบ้านเมือง
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าในยุคนั้นมีทั้งการซื้อเสียงในการเลือกตั้งและการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวางในการดำเนินนโยบายของรัฐ ความฉ้อฉลในแนวดังกล่าวนี้มีอยู่ทั่วโลก มากบ้างน้อยบ้างซึ่งสะท้อนออกมาในดัชนีชี้วัดขององค์การความโปรงใสสากล
กระแสที่สามชื่อว่า "ธนาธิปไตย” ซึ่งใช้ทรัพย์สินจำนวนมหาศาลเป็นฐานของการเข้าครองอำนาจและการดำเนินนโยบายของรัฐ กลุ่มมหาเศรษฐีมีส่วนชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นผู้กำอำนาจรัฐและชี้นำนโยบายไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในรัฐบาลหรือไม่
ในช่วงนั้น หัวหน้ารัฐบาลเป็นอภิมหาเศรษฐีใหม่ ส่วนในต่างประเทศที่ไม่มีการซื้อเสียงโดยตรงเช่นในสหรัฐ เงินของพวกเศรษฐีก็มีความสำคัญยิ่งในการหาเสียง
กระแสที่สี่ชื่อว่า "ญาติกาธิปไตย” ซึ่งมุ่งแบ่งสันปันอำนาจและผลประโยชน์กันในหมู่ญาติสนิทมิตรสหายของผู้นำ ในตอนนั้น นอกจากจะมีการแต่งตั้งญาติซึ่งไม่มีความสามารถตรงกับตำแหน่งแล้ว แนวคิดยังถูกนำไปใช้ในการแต่งตั้งตัวแทนเป็นผู้นำรัฐบาลต่อมาอีกสามสมัยด้วย การใช้แนวคิดนี้ยังมีอยู่แบบแทบจะสมบูรณ์ในหลายประเทศในย่านตะวันออกกลาง
กระแสที่ห้าชื่อว่า "ประชานิยมาธิปไตย” ซึ่งเป็นการใช้หลักประชานิยมแบบเลวร้ายในการดำเนินนโยบายของรัฐ แนวคิดนี้ถูกนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกในช่วงนั้นแม้จะเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเทศในละตินอเมริกาใช้กันมานานและเกิดผลเสียหายจนประเทศประสบภาวะล้มละลายหลายต่อหลายครั้ง ในปัจจุบัน แนวคิดนี้ยังมีใช้อยู่ในย่านนั้น
ทั้งห้ากระแสที่อ้างถึงล้วนเป็นภัยร้ายแรงต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ในช่วงนี้กลับมีกระแสใหม่ที่เป็นภัยร้ายแรงอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือ การใช้การโกหกอย่างกว้างขวางและการสร้างข้อมูลเท็จ หรือ “ความจริงทางเลือก” เป็นฐานของการเข้าสู่และการใช้อำนาจรัฐซึ่งอาจเรียกว่า “มุสาธิปไตย”
เทคโนโลยีใหม่เอื้อให้การสร้างและกระจายข้อมูลข่าวสารเท็จทำได้ง่ายและแนบเนียนขึ้นมาก ในสหรัฐซึ่งประกาศเป้าหมายว่าจะพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นพร้อมกับพยายามจูงใจให้ประเทศอื่นทำตามกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากกระแสนี้ ซ้ำร้ายอดีตประธานาธิบดีเป็นผู้นำทำกระแสนี้ให้แข็งแกร่งด้วยตัวเอง
ภาวะดังกล่าวคงบ่งชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยไม่น่าจะไปรอด ส่วนระบบซึ่งเข้ามาแทนที่จะมีลักษณะอย่างไรคาดเดาได้ยาก เมืองไทยมีกระแสเหล่านี้
กระแสที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมไทยมากที่สุดได้แก่ "โจราธิปไตย" ซึ่งฝังลึกอยู่ในแทบทุกวงการมานานแล้วและ "ประชานิยมาธิปไตย" ซึ่งแม้จะเข้ามาใหม่แต่กำลังทำสังคมไทยให้อ่อนแอถึงรากเหง้า.