จริงหรือไม่? ที่ "ทุเรียนไทย" ฮิตใน "จีน"

จริงหรือไม่? ที่ "ทุเรียนไทย" ฮิตใน "จีน"

"ทุเรียน" ราชาผลไม้ไทย ไม่ใช่ดังแค่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ดังไกลไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "จีน" จึงมีคนถามอ้ายจงกันมากว่า แท้จริงแล้ว "ทุเรียนไทย" ฮิตในจีนจริงหรือไม่? ฉะนั้น มาไขคำตอบไปพร้อมกันได้จากบทความนี้

"ทุเรียน" เป็น "ราชาผลไม้ไทย" ไม่ใช่แค่ดังในไทยแต่ดังไกลไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ซึ่งช่วงที่ท่องเที่ยวไทยบูมในจีนก่อนปี 2563 โควิด-19 ระบาดหนัก ก็เป็นช่วงบูมของ "ทุเรียนไทย" เช่นกัน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าทั้งในไทยเองและส่งออกไปในจีน ทั้งแบบลูกสด แช่แข็ง (แบบแกะเนื้อแล้ว) รวมถึงแบบแปรรูป เช่น ทุเรียนอบกรอบ (คนจีนจะนิยม "ทุเรียนอบ" มากกว่า "ทุเรียนทอด")

และอีกสิ่งหนึ่งที่การันตีถึงความนิยมทุเรียนไทยในจีน คือ พอช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ยอดส่งออกทุเรียนไทยไปจีนในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ทำสถิติสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ราว 935 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 95.3% เทียบปีต่อปี โดยทุเรียนไทยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ที่นำเข้าไปในจีนและฮ่องกง ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย

แต่หลังจากที่จีนกลับมาเจอการระบาดระลอกใหม่ในปีนี้ 2565 ทำให้จีนเข้มงวดในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ตามนโยบาย โควิดเป็นศูนย์แบบไดนามิก (Dynamic zero-covid) ทำให้ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างละเอียด การส่งออกทุเรียนไทยจึงได้รับผลกระทบพอสมควร เมื่อมีเคสที่ตรวจเจอโควิด-19 จากการส่งออกทุเรียนจากไทย แต่ในบทความนี้เราจะข้ามเรื่องปัญหาดังกล่าวไป แต่มาร่วมกาคำตอบกันว่า "ทุเรียนไทย ฮิตในจีนจริงหรือ?"

ทุเรียนไทย ฮิตในจีนจริงหรือ?

จากประสบการณ์ที่อ้ายจงอยู่ในจีนช่วง 2554-2562 และสอบถามจากเพื่อนๆ คนจีน รวมทั้งสำรวจจากโลกออนไลน์จีน ทำให้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับ ทุเรียนไทย ดังนี้

1. ทุเรียนไทย ที่ได้รับความนิยมล้นหลาม ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง ภาษาจีนเรียก 泰国金枕头榴莲 (ไท่กั๋วจินเจิ่นโทว)

2. คนจีนจำนวนไม่น้อย นิยมกิน "ทุเรียน" แบบที่สุกจริงๆ จนถึงขั้นที่คนไทยมองว่ามันเละแล้ว โดยทุเรียนแบบที่คนไทยชอบกินอย่าง เนื้อห่าม กรอบนอกนุ่มใน คนจีนมองว่ามันยังดิบอยู่ เขาต้องกินแบบสุกจริงๆ ถึงขั้นมีคนจีนรีวิวขาย ทุเรียนหมอนทอง บนเถาเป่า (Taobao) แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังของจีน โดยรีวิวว่า "เลือกทุเรียนอย่างไร? เลือกแบบที่สุกๆ (เกือบจะเละ)" รีวิวไปกินไปขายไป เรียกความสนใจจากผู้คนในโลกออนไลน์ได้เยอะทีเดียว

3. ความนิยมของทุเรียนในจีน การันตีได้จากการนำทุเรียนมาแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์และเมนูอาหารต่างๆ อย่างหลากหลาย ชนิดที่เราอาจคิดไม่ถึง 

อ้ายจง ขออนุญาตใช้ความคิดเห็นจากประสบการณ์ส่วนตัว คัดเลือกเด่นมาเล่าให้เห็นภาพ รายการแรก ขอยกให้ "นักเก็ตไก่ไส้ทุเรียน จากเคเอฟซี" เมนูเด็ดไวรัลกระแสออนไลน์ในปี 2562 ก็ใครจะไปคิดว่า นักเก็ตไก่จะมีไส้ทุเรียนได้ด้วย เอาทุเรียนมาทำเป็นเมนูอาหาร มันก็ยังพอสมเหตุสมผล จัดอยู่ในหมวดหมู่อาหาร แต่ถ้าแหวกแนวแบบสุดๆ ไม่ใช่ของกินล่ะ เราจะนึกถึงผลิตภัณฑ์อะไรได้อีกบ้าง? 

บทความที่เกี่ยวข้อง

"น้ำหอมกลิ่นทุเรียน" คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่? อย่าเพิ่งทำหน้าฉงนแล้วส่ายหัวนะ เพราะมันมีอยู่จริง แถมได้รับความนิยมอย่างมากในจีนเสียด้วย

จริงหรือไม่? ที่ \"ทุเรียนไทย\" ฮิตใน \"จีน\" ภาพ น้ำหอมทุเรียน ของ PizzaHut จาก Weibo: 微笑BB熊 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2560 ช่วงที่ ทุเรียนไทย ดังสุดๆใน จีน PizzaHut สาขาประเทศจีน ได้ออกเมนูพิซซ่าทุเรียน 2 หน้า "หน้าพิซซ่าทุเรียนหมอนทองจากไทย" และอีกหน้าหนึ่งคือ "หน้าทุเรียนมูซานคิงส์ (มูซังคิงส์)" ซึ่งภาษาจีนเรียก เมาซานหวัง ที่นำเข้าจากมาเลเซีย โดยคราเดียวกัน ทาง PizzaHut ได้ออก "น้ำหอมกลิ่นทุเรียน" มาโปรโมทแคมเปญพิซซ่าทุเรียนด้วย ทำออกมาขายเพียง 2,000 ขวด และหลังจากเปิดขายก็หมดไปอย่างรวดเร็วมาก

ไม่ใช่แค่น้ำหอมแคมเปญพิเศษจาก PizzaHut ตอนสมัยอ้ายจงใช้ชีวิตที่เมืองซีอาน เคยเจอเครื่องหอมอโรม่า กลิ่นทุเรียน ทำออกมาวางจำหน่ายเช่นกัน กลิ่นทุเรียนที่หลายคนมองว่ากลิ่นแรง แต่เชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ชอบกินทุเรียน คงอยากได้ทั้งน้ำหอมและอโรม่ากลิ่นนี้มาครอบครองเป็นแน่

จริงหรือไม่? ที่ \"ทุเรียนไทย\" ฮิตใน \"จีน\"
ภาพ เครื่องหอมอโรม่า กลิ่นทุเรียน

4. น้ำปั่นทุเรียน เราคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ความดังของน้ำมะม่วงปั่นของไทยในจีน ภายใต้ชื่อร้าน "ฉันยุ่งมาก" มาแล้ว เมื่อ 6-7 ปีก่อน แต่ ณ ขณะนี้ ถ้าใครเปิดดูในโลกโซเชียลจีนอย่างบน Xiaohongshu (小红书 เสี่ยวหงซู) สังคมออนไลน์สำหรับไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และท่องเที่ยวโ ดยเฉพาะที่ฐานผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นหญิงจีนรุ่นใหม่ เราจะได้เห็นคำค้นหา 榴莲饮料 ซึ่งแปลว่า เครื่องดื่มทุเรียน เป็นคำค้นหาแนะนำที่คนจีนค้นกันเยอะในช่วงนี้ 

ส่วนใหญ่จะเป็นรีวิว น้ำเนื้อทุเรียนปั่น ในเมืองกว่างโจว (กวางเจา) มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นทุเรียนไทยหรือทุเรียนพันธุ์อะไรโดยเฉพาะเจาะจง น้ำทุเรียนปั่นดังกล่าว มีทั้งปั่นเนื้อทุเรียนเพียวๆ และผสมกับผลไม้อื่น โดยที่นิยมจะเป็น 2 ผลไม้หลักๆ คือ ผสมมะม่วงและอโวคาโด

จริงหรือไม่? ที่ \"ทุเรียนไทย\" ฮิตใน \"จีน\"
ภาพ เมนูยอดฮิต "น้ำทุเรียนปั่น" ในแพลตฟอร์มเสี่ยวหงซู

5. ทุเรียนไทยในจีน ไม่ใช่มีแค่ ทุเรียนหมอนทอง เท่านั้น แต่ยังมีทุเรียนพันธ์อื่นๆ ของไทยขายด้วย โดย ทุเรียน ยอดนิยมในจีน อาทิเช่น

  • ทุเรียนหลงลับแล ภาษาจีนเรียก 泰国玲珑榴莲 (ไท่กั๋วหลิงหลงหลิวเหลียน) เคยเห็นขายที่จีน เช่น ที่ห้างสรรพสินค้าในเซี่ยงไฮ้ ณ ตอนนั้นจำได้ว่าราคาราว 90 หยวน หรือ 450 บาท
  • ทุเรียนพวงมณี ภาษาจีนเรียก 托曼尼 (อ่านว่า ทัวม่านหนี) มีขายบ้างในออนไลน์จีน เช่น เถาเป่า
  • ทุเรียนชะนี ภาษาจีนเรียก 泰国青尼 (ไท่กั๋วชิงหนี) มีขายในเถาเป่าเช่นกัน
  • ทุเรียนก้านยาว ภาษาจีนเรียก 泰国长柄 (ไท่กั๋วฉางปิ่ง) อันนี้ก็มีขายในเถาเป่า
  • ทุเรียนกระดุมทอง ภาษาจีนเรียก 泰国甲仑 (ไท่กั๋วเจี่ยหลุน) ขายในเถาเป่าอีกเช่นเคย

สรุปได้ว่า "คนจีน" นิยม "ทุเรียนไทย" ไม่น้อยเลย แต่พันธุ์ที่นิยมมากที่สุดหนีไม่พ้น ทุเรียนหมอนทอง ดังมากถึงขั้นที่ว่า เคยมีคนจีน บริษัทในจีน นำคำภาษาจีนที่ใช้เรียก ทุเรียนหมอนทอง ไปจดทะเบียนการค้าในจีนมาแล้ว ส่งผลเสียต่อผู้ประกอบการไทยเวลาทำผลิตภัณฑ์ที่ใช้คำภาษาจีนสื่อถึงทุเรียนหมอนทอง ซึ่งอาจผิดกฎหมายเรื่องทะเบียนการค้าได้ ตรงนี้ก่อนนักธุรกิจไทยจะไปทำตลาดที่จีนก็ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดีก่อนด้วย

แต่ทั้งนี้มีข้อมูลหนึ่งที่อยากเล่าให้คนไทยทราบคือ มาเลเซีย เพื่อนบ้านย่านอาเซียนของไทยเรา ก็กำลังก้าวเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปจีนเช่นกัน โดยนำ ทุเรียนมูซานคิงส์ เป็นตัวชูโรง ที่รัฐบาลมาเลเซียผลักดันทุเรียนมูซานคิงส์เป็นดั่งสินค้าพรีเมียมเฉกเช่นกระเป๋า Hermes ดังนั้น ไทยเราก็ยิ่งต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการส่งออก แม้ทุเรียนหมอนทองไทยจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่า ราคาจับต้องได้มากกว่าก็ตาม ไม่นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิด-19 เพื่อยึดครองตลาดหลักอย่างจีนไว้

ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่